รื้อผังกทม.ใหม่ พลิกโฉมมหานคร ปักหมุด ย่านแหล่งงาน ลดเดินทาง

18 เม.ย. 2566 | 16:36 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2566 | 16:45 น.
7.2 k

รื้อผังกทม.ใหม่ พลิกโฉมมหานคร  ชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. ปักหมุดเมืองบริวาร เมืองใหม่ สร้างย่านแหล่งงาน แนวรถไฟฟ้าสายใหม่ ลดเดินทาง เข้าใจกลางเมือง ลดแออัด  ลดมลพิษฝุ่นควัน คาดประกาศใช้ ปลายปี67อย่างช้าต้นปี68

 

ก้าวสู่ปีที่10 สำหรับการบังคับใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่3) ปี2556  ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเมืองจากการลงทุนโครงข่ายรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ เชื่อมโยงไปยังจังหวัดปริมณฑล  ส่งผลให้เกิดทำเลทองขนาดใหญ่พัฒนาที่อยู่อาศัย พื้นที่พาณิชยกรรม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นสาเหตุให้ การจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ใหม่ต้องปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกันแบบไร้รอยต่อ

เช่น คูคต มีรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือส่วนต่อขยายพาดผ่าน และรังสิต จังหวัดปทุมธานี มีสายสีแดง นอกจากนี้มีสายสีเหลือง สายสีเขียวใต้ส่วนต่อขยาย สายสีม่วงใต้ เชื่อมสมุทรปราการ  สายสีชมพูเชื่อมนนทบุรี ที่แครายรวมถึงโครงข่ายของถนนใหม่เป็นต้น

ล่าสุด ได้กทม.ประชุมกลุ่มจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานครโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ให้เกิดการเชื่อมโยงโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานใหม่ในจังหวัดปริมณฑล สร้างชุมชนแหล่งงานใหม่ลดการเดินทางออกนอกพื้นที่

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า   ต้องการ ปรับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ในบางประเด็น โดยเฉพาะการ กระจายย่านแหล่งงานศูนย์พาณิชยกรรม ออกไปยังชานเมือง แนวเส้นทางรถไฟฟ้า ที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อกำหนดที่อยู่อาศัยและแหล่งงาน อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดความแออัดจากการเดินทางเข้าเมืองชั้นใน และลดมลปัญหาฝุ่นละลองขนาดเล็ก PM 2.5 จากการเผาไหม้พลังงานเชื้อเพลิง  

 โดยนโยบายเบื้องต้นคือการพัฒนาเมืองบริวาร การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและ รัฐนำที่ดินแปลงใหญ่ พัฒนาสร้างเมืองใหม่ แบบครบวงจร ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โรงพยาบาล การเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า ที่รองรับคนได้ทุกกลุ่ม และสร้างกิจกรรมภายใน สร้างงานใกล้ที่พักอาศัย หรือทำงานอยู่กับบ้านโดยไม่ต้องเดินทางเข้าเมืองออกทุกวันแบบเช้าไปเย็นกลับ อาทิ ร่มเกล้าลาดกระบัง บางขุนเทียน  และพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ระหว่างมองหา

  “ได้หารือถึงการสร้างเมืองใหม่ที่อยู่รอบนอกเป็นไปได้หรือไม่ที่เราอาจจะหาพื้นที่บริเวณลาดกระบัง ร่มเกล้าหรือบางขุนเทียน และลองคิดสร้างเมืองในอุดมคติสักเมือง ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ของหน่วยราชการที่มีพื้นที่อยู่ เช่น การเคหะแห่งชาติมีที่ว่างหลายร้อยไร่อยู่ในพื้นที่ แล้วทำการพัฒนาเมืองใหม่ที่ไม่ใช่มีแค่ที่อยู่อาศัย มีสำนักงาน มีโรงเรียน มีสวนสาธารณะ การคมนาคม โรงพยาบาล โดยให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองไปหารือร่วมกัน เพื่อออกแบบผังเมืองให้สามารถพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองที่สมบูรณ์ในตัวเอง ก็จะลดการเดินทางเข้ามาในเมืองใหญ่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อาจจะเป็นแนวคิดในพื้นที่บางแปลงที่มีขนาดใหญ่ซึ่งจะเริ่มพิจารณาตรงนี้”

อย่างไรก็ตามสำหรับผังเมืองรวมกทม.ใหม่ที่ผ่านมาได้ ดำเนินการประชาพิจารณ์มาก่อนหน้านี้แล้ว อาจต้องดำเนินการใหม่ตามกฎหมายที่เปลี่ยนไปเนื่องจากต้องแนบผังแนบท้ายเพิ่มเติม คงต้องเริ่มใหม่ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทบทวนตัวผังเมืองและปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ ให้ดีขึ้น นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะเร่งดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีข้อบัญญัติเกี่ยวกับผังเมืองที่เริ่มตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 60 ฉบับนี้ คงต้องทบทวน ยกเลิกและปรับให้ทันสมัยขึ้น หัวใจคือกำหนดทิศทางของเมืองให้เกิดการพัฒนาและเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงและสูงสุด

 โดยผู้ว่าฯ กทม.ยํ้าว่า ผังเมืองเป็นเรื่องที่ทุกคนคิดว่าเป็นปัญหาของเมือง เช่น เรื่องนํ้าท่วม และการจราจร แต่การปรับผังเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีความซับซ้อนในหลายด้าน ตัวอย่างเช่น หากดูผังเมืองรวมกทม.มีลักษณะเป็นรูปผังสี มีสีแดง สีส้ม สีนํ้าตาล สีเหลือง แบ่งการใช้งานตามประเภทสี เช่น สีแดงเป็นพาณิชย์ สีม่วงเป็นอุตสาหกรรม สีส้มเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่น เป็นต้น

กลายเป็นว่าถ้าดูผังสีแบบเร็วเหมือนเป็นผังที่กำหนดราคาที่ดิน และกำหนดว่าในแต่ละพื้นที่สร้างสูงสุดได้มากเท่าใด แต่ไม่ได้บอกว่าควรจะสร้างอะไร กลายเป็นว่าคนที่อยู่ในผังสีนี้ต้องการจะสร้างในสิ่งที่ได้ค่าตอบแทนที่สูงที่สุด ทำให้รูปแบบของเมืองพัฒนาในรูปแบบความต้องการราคาและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด นี่เป็นอันหนึ่งที่อาจจะต้องพยายามต่อไปในอนาคตว่าผังเมืองรวมกทม.ควรจะกำหนดโจทย์ทิศทางของเมืองมากกว่าจะกำหนดว่าสร้างอะไรได้มากที่สุดในพื้นที่ ดังนั้นอาจจะต้องมีแนวคิดใหม่

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานครกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ว่าฯกทม.ไม่ได้ปรับเปลี่ยนผังเมืองรวมกทม.ใหม่มากอย่างที่หลายคนเข้าใจแต่เปลี่ยนเฉพาะบางจุดให้เกิดความสมดุลเช่นการสร้างเมืองบริวารการสร้างเมืองใหม่ทำอย่างไรจะช่วยให้คนทุกกลุ่มมี ที่อยู่อาศัย มีแหล่งงานใกล้บ้าน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง  โดยไม่ต้องเดินทางเช้าไปเย็นกลับเข้าสู่เขตเศรษฐกิจชั้นในของกทม.นอกนั้นการใช้ประโยชน์ที่ดินจะยังคงเดิมตามที่ยกร่างไปเดิมเช่นพื้นที่รับนํ้าโซนตะวันออกกทม. 

ที่ลดพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (เขียวลาย) ลงเพื่อนำพื้นที่ออกใช้ประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น  สำหรับความคืบหน้าการจัดทำผังเมืองรวมกทม.ใหม่ หลังผ่านการระดมสมองเปิดรับฟังความคิดเห็น ในพื้นที่จังหวัดปริมณฑลแล้ว ต่อไปจะเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน จะดำเนินการได้หลังการเลือกตั้งไปแล้ว คาดว่าจะประกาศใช้ผังเมืองใหม่ได้ ประมาณปลายปี2567-2568

รื้อผังกทม.