2ทายาท เจ้าสัวเจริญ ลุยอภิโปรเจ็กต์ พลิกโฉมกรุงเทพฯมหานครระดับโลก

24 ก.พ. 2566 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2566 | 14:05 น.
13.1 k

 2 ทายาท เจ้าสัว"เจริญ สิริวัฒนภักดี" ลุยบิ๊กโปรเจ็กต์ -ช็อปอสังหาฯ ขยายอาณาจักรเก็บเข้าพอร์ตแสนล้าน “ปณต” คุม เฟรเซอร์สฯลุย 7 โปรเจ็กต์มูลค่า 1.7แสนล้าน “วัลลภา” ขับเคลื่อน AWC ปักหมุดเอเชียทีค-มิกซ์ยูส-โรงเแรมทั่วกรุง

ที่ดินบนถนนพระราม 4 และที่ดินแปลงงาม ริมโค้งนํ้าเจ้าพระยา ย่านถนนเจริญกรุง รวมถึงฝั่ง เจริญนคร อภิมหาโปรเจ็กต์ภายใต้การพัฒนาของ 2 ทายาท เจ้าสัวเจริญ  สิริวัฒนภักดี บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ชั้นนำของประเทศ ปัจจุบันเป็นที่จับตามอง เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่าจะมีมูลค่าการลงทุนรวมในมือไม่ตํ่ากว่า 3 แสนล้านบาท

โดยสองทายาท แยกกลุ่มธุรกิจที่ชัดเจนปัจจุบัน  กลุ่มบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ลิมิเต็ด บริหารโดย นายปณต สิริวัฒนภักดี  บุตรชายคนสุดท้องของเจ้าสัวเจริญ ที่หยิบปณิธานผู้เป็นบิดา เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์บนที่ดินที่ครอบครองพัฒนาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจตอบแทนสังคม ให้เติบโตไปด้วยกัน เช่นกลุ่มโครงการบนถนนพระราม 4 รวมถึงวันแบงค็อก  โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าลงทุนสูงที่สุดในประเทศไทยที่ 1.2 แสนล้านบาท

หลังเริ่มจุดประกาย ที่ดิน ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาแม่นํ้าสายประวัติศาสตร์ พัฒนา โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ คอมมูนิตี้มอลล์ขนาดใหญ่ พื้นที่รวมเกือบ100ไร่  ย่านเจริญกรุง ที่ มีแผนแล้วเสร็จ เมื่อปี 2555

ก่อนโอนให้อยู่ ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด  (มหาชน)  หรือ AWC บริษัทในกลุ่มทีซีซี ที่เข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการเมื่อปลายปี 2562  มีนางวัลลภา ไตรโสรัส บุตรสาวเจ้าสัวเจริญ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ฯ

 

ขณะเดียวกัน ยังลงทุนซื้อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจภาคบริการอย่างโรงแรม รีสอร์ท ที่ดิน ฯลฯ เก็บเข้าพอร์ตต่อยอดธุรกิจ อย่างต่อเนื่องที่จุดประกายมาจากการระบาดของโควิด สร้างอาณาจักรธุรกิจอสังหาฯชั้นนำของประเทศทั้งการพัฒนาและการซื้ออสังหาฯ

อภิมหาโปรเจ็กต์ สองทายาท สิริวัฒนภักดี

AWCซื้อโรงแรมมากสุด

 ที่ล่าลุดจากการรายงานของ JLL ประเทศไทย ระบุมีการซื้อขายกิจการโรงแรมในประเทศไทยปี2565 จำนวน14แห่ง มูลค่า 11 ,000 ล้านบาท โดย AWC เป็นกลุ่มที่ซื้อมากที่สุด ยกตัวอย่าง โรงแรมชื่อดัง แกรนด์ เมอร์เคียว แบงค็อก วินเซอร์  ใกล้สถานีบีทีเอส อโศก

นอกเหนือจาก เดอะ เวสทิน สิเหร่ เบย์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ภูเก็ต และ ดุสิต ดีทู เชียงใหม่ ซึ่งได้ทำการตกลงซื้อขายในปี 2564 แต่ธุรกรรมการซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 รวมมูลค่าเกือบหมื่นล้านบาท  โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2564  ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ได้เข้าซื้อโครงการโรงแรมซิกมา รีสอร์ท จอมเทียน พัทยา สูง 14 ชั้น อยู่ติดถนนเลียบหาดจอมเทียน  รวมค่าปรับปรุงมูลค่า กว่า1.8 พันล้านบาท

คาดว่าปีนี้จะมีการซื้อขายต่อเนื่อง จากโรงแรมสายป่านไม่ยาวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด สะท้อนว่าการซื้อโรงแรมต่อจากเจ้าของเดิมมาปรับปรุงใหม่ย่อมลดงบประมาณลงทุนได้อย่างมาก เพราะไม่ต้องมองหาที่ดินเพื่อลงทุนท่ามกลางราคาร้อนแรง อีกทั้ง การแข่งขันสูงสำหรับรายใหญ่ที่เปิดให้บริการมาก่อนหน้านี้

200โรงแรมแห่ขายAWC  

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา นางวัลลภาประกาศ ตั้งกองทุนสำหรับช้อนซื้ออสังหาฯ ประเภทโรงแรม รีสอร์ท ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในทำเลศักยภาพ ไม่ตํ่ากว่า1หมื่นล้านบาทช่วงเกิดสถานการณ์โควิดรุนแรง 

ยอมรับว่า ปัจจุบันมีโรงแรมกว่า 200 แห่งเข้ามาเสนอขาย ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และภูมิภาค หัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญแต่ มองว่า AWC ไม่สามารถซื้อได้ตามข้อเสนอทุกรายการ โดยจะต้องมองศักยภาพ รอบด้านที่สอดรับกับการลงทุนและนโยบายของบริษัทอย่างแท้จริง

ผุดตึก100ชั้น ริมเจ้าพระยา

นอกจากการซื้อกิจการโรงแรม เข้าพอร์ตต่อยอดการพัฒนาแล้ว จากการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยว สถานการณ์โควิด ไม่มีท่าทีกลับมาระบาดรุนแรง นางวัลลภา ประกาศ พลิกโฉม เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนต์เฟสแรก  ศูนย์การค้าเปิดโล่งขนาดใหญ่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา  ถนนเจริญกรุงที่ ลงทุนเมื่อ 10 ปีก่อนหรือตั้งแต่ปี 2555

รวมถึงพัฒนาโครงการเอเชียทีค เฟส 2  โครงการมิกซ์ยูส สูง 450 เมตร หรือ 100 ชั้น สุงที่สุดในประเทศไทย  มูลค่ากว่า3 หมื่นล้านบาท  ตั้งอยู่ฝั่งขวา ของโครงการริมคุ้งนํ้าเจ้าพระยา ซึ่งจะเป็นโรงแรมสุดหรู รีเทล จุดหมายปลายทางนักท่องเที่ยวระดับโลก ที่ผลักดันให้เป็นฮวงจุยเสริมพลัง กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ตามแผนลงทุนเฟส 2 AWC ต้องพัฒนาให้เสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดภายใน 10 ปีข้างหน้านับจากปีนี้

บูม "ล้ง 1919- เวิ้งนาครเขษม"

 ขณะเดียวกัน ยังมีแผนพัฒนา ล้ง 1919 ทำเลศักยภาพริมแม่นํ้าเจ้าพระยา เขตคลองสาน  ฝั่งธนบุรี ใกล้กับไอคอนสยาม พัฒนา รูปแบบ Wellness Destination ระยะยาว 64 ปี ซึ่งเป็นที่ดินเช่าของตระกูลหวั่งหลี   มูลค่า3,436 ล้านบาท ที่ดินประวัฒศาสตร์ของชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลที่มีอายุกว่า 200 ปี 

รวมถึงเวิ้งนาครเขษม 14 ไร่  ถนนเจริญกรุงมูลค่า16,513 ล้านบาท มีแผนพัฒนา มิกซ์ยูสทั้งห้องชุดและโรงแรมหรูกลิ่นอายไชน่าทาวน์ ที่คาดว่าจะทยอยเปิดให้บริการในปี 2569 โดยนางวัลลภาให้เหตุผลว่าช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยจะกลับมาแข็งแรง มีนักท่องเที่ยวกลับมามากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งจะเชื่อมโยงกับถนนพระราม4 อาณาจักรใหญ่ ของนายปณตกลุ่มเฟรเซอร์ฯ 

วันแบงค็อกมหานครระดับโลก 

ที่มี "วันแบงค็อก" โครงการมิกซ์ยูสระดับโลกที่มีมูลค่าสูงที่สุด 1.2แสนล้านบาทบนที่ดินผืนใหญ่ ขนาด 108ไ ร่ ทำเลหัวมุมถนนพระราม4 ตัดกับถนนวิทยุ ที่มีแผนเปิดให้บริการเฟสแรกปี 2567 หากเปิดให้บริการจะกลายเป็นมหานครกลางใจเมือง ที่ต้องการพลิกโฉมถนนพระราม4จากย่านการค้าเก่า เป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจใหม่

ในอนาคตจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญเติมเต็มในย่านดังกล่าว ให้เป็นจุดหมายปลายทางของทุกกลุ่มคนและทุกเพศวัย นอกจากโครงการอาคารสำนักงาน รีเทล ศูนย์การค้า ที่เปิดให้บริการมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น อาคารเอฟวายไอเซ็นเตอร์ สามย่านมิตรทาวน์  สีลมเอจ เดอะปาร์ค ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นต้น 

 พลิกบางนาเมืองใหม่ 4.6พันไร่ 

นอกจากนี้อีก ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองมากที่สุดของเฟรเซอร์สฯ ในระยะ 1-2 ปีนี้ หากแต่เป็นเกมพลิกแผนพัฒนาที่ดินแปลงยักษ์ 4,600 ไร่ ย่านบางนา-ตราด กม. 32  ในลักษณะ เมืองใหม่ โดย ร่วมลงทุนกับพาร์ทเนอร์ระดับท็อปของประเทศ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในไทย โดยปัจจุบัน อยู่ระหว่าง วางรูปแบบ และ ก่อสร้างสาธารณูปโภคภายใน ตัดถนนผ่ากลางแบ่งพื้นที่ 2 ฝั่ง

ภายใต้ความท้าทายนำ 3 ธุรกิจหลักในเครือ ตั้งแต่ โครงการที่อยู่อาศัยพื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่คอมเมอร์เชียล มาผสมผสานอย่างกลมกลืนบนทำเลยุทธศาสตร์ประตูสู่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่มีดีมานด์มหาศาลทุกด้าน