ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างปี 2565 เผชิญความเสี่ยงจากต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นมาก ทั้งด้านค่าขนส่ง และราคาวัสดุก่อสร้าง จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ผลักดันให้ราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้างสำคัญ อย่าง เหล็กและปูนซีเมนต์ปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ที่มาจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โปรเจ็กต์ โครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ในช่วงครึ่งปีหลัง กลายเป็นโอกาส ของผู้รับเหมารายใหญ่ ที่มีความพร้อมในการประมูลงาน โดยเฉพาะ กลุ่ม โครงการวิศวกรรมโยธาขนาดใหญ่ ที่ก่อนหน้า ขยับตัวช้าลง จากปัญหาขาดแคลนแรงงาน และมาตรการคุมโควิด-19 ซ้ำเติมค่าจ้างแรงงานถีบตัวสูง พบขณะนี้ เริ่มกลับมาทิศทางดีขึ้นชัดเจน ตามการเร่งเปิดประมูล เบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ อีกครั้ง
'ฐานเศรษฐกิจ' เจาะฟอร์มผู้รับเหมารายใหญ่ บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT บริษัทเชี่ยวชาญพิเศษด้านวิศวกรรมโยธาและธรณีเทคนิค คาด ปี 2565 จะสร้างมูลค่างานในมือได้มากถึง 8.5 พันล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่ก่อสร้างบริษัทมา
นายชวลิต ถนอมถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RT เผยว่า ปัจจุบัน
บริษัทรับงาน 5 ประเภท ได้แก่ 1. งานก่อสร้างอุโมงค์และโครงสร้างใต้ดิน 2.งานก่อสร้างเขื่อน 3. งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 4. งานก่อสร้าง และ 5.งานก่อสร้างด้านอื่นๆ ซึ่งถือว่ามีจุดแข็งภายใต้การแข่งขันของอุตสาหกรรม จากความชำนาญเฉพาะบริษัท แต่ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างอยู่ภายใต้สถานการณ์วิกฤติซ้อนวิกฤติมายาวนาน ทำให้บริษัทต้องติดตามสถานการณ์และประเมินแผนงานเป็นระยะๆ
เนื่องจากหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้น เศรษฐกิจภาพรวม กลับเผชิญกับแรงกดดันใหม่จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างโลกปรับตัวแรง อีกทั้งยังมีปัญหา 'เงินเฟ้อ' ประกอบการต้นทุนแรงงานสูงร่วมด้วย โดยบริษัทใช้กลยุทธ์จัดการต้นทุนก่อสร้าง รวมถึงการเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจ จัดซื้อวัสดุก่อสร้างล่วงหน้า ส่งผลให้สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ อีกทั้ง ยังได้รับการช่วยเหลือจากรัฐในเรื่องการชำระหนี้ ทำให้บริษัทกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง
"ที่ผ่านมา บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ได้รับผลกระทบและมีอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจมาก ตั้งแต่ช่วงโควิด ปิดแคมป์ก่อสร้างหลายระลอก เกิดปัญหาขาดแรงงาน ต้องหาคนในท้องถิ่นต่างจังหวัดเข้าช่วย ส่วนขณะนี้ สถานการณ์ดีขึ้น หลังจากรัฐผ่อนปรนมาตรการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอีกครั้ง
"
นาทีทอง โกยงานประมูลรัฐ
หัวเรือใหญ่ RT ยังระบุว่า แม้ขณะนี้เศรษฐกิจโลกจะเต็มไปด้วยความเสี่ยงจากสงครามยืดเยื้อ แต่สัญญาณราคาวัสดุก่อสร้างและน้ำมันปรับตัวลดลง บวกกับแรงงานก่อสร้างที่เริ่มกลับมาทำงานได้ตามปกติแล้ว ส่งผลให้โครงการก่อสร้าง เริ่มกลับมาดำเนินงานได้ตามแผนที่วางไว้ และทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่า มูลค่างานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) ของบริษัทในปี 2565 นั้น จะสูงถึง 8.5 พันล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา และจะทยอยการรับรู้รายได้ได้ถึงช่วงปี 2567 ขณะ ณ สิ้นไตรมาส 1 บริษัท มีงานในมือแล้วราว 4.7 พันล้านบาท
เนื่องจาก ในช่วงครึ่งปีหลัง พบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ กำลังจะเปิดประมูลเป็นจำนวนมาก รวมถึง งานก่อสร้างที่ต่อยอดจากการเป็นผู้รับเหมาช่วง เช่น งานอุโมงค์, งานประเภทเขื่อน และ ระบบชลประทาน, งานท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน, งานก่อสร้าง Slope Protection รวมถึงโครงการก่อสร้างภาคเอกชน
เจาะโครงการเด่น - งานอุโมงค์มาแรง
ทั้งนี้ โปรเจ็กต์โดดเด่นที่อยู่ในมือ RT ประกอบไปด้วย งานโครงสร้างรถไฟเด่นชัย เชียงราย-เชียงของ , งานอุโมงค์แม่แตง (เชียงใหม่) , Slope Protection ถนนจังหวัดตรัง , โครงการขุดอ่างเก็บน้ำโรงไฟฟ้า บางปะกง และโครงการนำสายไฟลงใต้ดิน แนวรถไฟฟ้าสายสีส้ม อีกทั้ง เร็วๆนี้กำลังจะเข้าไปร่วมประมูล งานก่อสร้างอุโมงค์ในพื้นที่ ป่าตอง จังหวัดกระบี่ ,งานเขื่อน น้ำยม - ภูมิพล ของกรมชลประทาน เป็นต้น
ซึ่งนายชวลิต ฉายภาพว่า เฉพาะงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา และกำลังจะเปิดการประมูล จะทำให้บริษัทเติบโตทำสถิติสูงสุดในปีนี้ ซึ่งนอกจากความพร้อมและศักยภาพในการรับงานแล้ว ยังมีจากแนวโน้ม โปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะมีออกมามากขึ้นในช่วง2-3 ปีข้างหน้าอีกด้วย
"บริษัทได้ผ่านช่วงต่ำสุดของธุรกิจมาแล้ว ระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โอกาส คือ งานประเภทขุดเจาะอุโมงค์ ซึ่งมีแผนงานในกทม. และต่างจังหวัด จากการผลักดันของหน่วยงานหลัก ทั้ง กฟผ.,กฟน.,กปน.,กทม.และกรมชลประทาน ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้เทคนิคพิเศษ สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญ ของบริษัท ซึ่งจะเป็นโอกาสที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต"
งาน CLMV โอกาสใหญ่
นายชวลิต กล่าวทิ้งท้าย ถึงแผนงานการรุกขยายการรับงานไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV (ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม) ว่าเดิมบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากงานประมูลในประเทศ 80 % และต่างประเทศดังกล่าว20% แต่ปัจจุบัน เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด การขยับไปยังต่างประเทศทำได้ยากขึ้น ขณะเมียนมาร์มีวิกฤติการเงิน และเศรษฐกิจ จึงชะลอไว้ก่อน แต่อย่างไรก็ตาม เมียนมาร์ถือเป็นประเทศที่น่าสนใจ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ โอกาสการลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มีมาก เนื่องจากกำลังไฟฟ้าในประเทศยังขาดแคลน ซึ่งบริษัทได้เตรียมพร้อมเบื้องต้น ผ่านการเข้าไปจดทะเบียนบริษัทอย่างถูกต้องแล้ว ส่วนประเทศลาว มีแผนกลับเข้าไปรับงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีกครั้งในช่วงต้นปี 2566 เช่นเดียวกับ กัมพูชา ก็มีแผนหางานเพิ่มเช่นกัน ทั้งหมดจะเป็นการทำสัญญา ผ่าน 'เงินบาท' ผ่านลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้