อสังหาฯไทย กระจายลงทุน ข้ามธุรกิจ รับตลาดเสี่ยง

22 มี.ค. 2565 | 17:05 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2565 | 00:10 น.

CBRE เผย ผู้พัฒนาอสังหาฯ ไทย กลุ่มโครงการที่พักอาศัย ปรับพอร์ตการลงทุน ข้ามธุรกิจรับมือ ตลาดท้าทาย - แข่งขันสูง พบธุรกิจเทคโนโลยี พลังงานสะอาด มาแรง

22 มีนาคม 2565 – ความพยายามที่จะรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ความท้าทายด้านเศรษฐกิจและการเงิน และผลกระทบจากการแพร่ระบาดหลายระลอกได้ผลักดันให้ผู้พัฒนาโครงการที่พักอาศัยนำกลยุทธ์ใหม่ ๆ มาใช้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ตลาดเดียว  ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก วิเคราะห์ถึงกลยุทธ์ล่าสุดของผู้พัฒนาโครงการที่พักอาศัยในการกระจายความเสี่ยงสู่ธุรกิจเสริมอื่น ๆ

นายรัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษา ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า “ในอดีตที่ผ่านมา ผู้พัฒนาโครงการที่พักอาศัยได้ปรับกลยุทธ์การลงทุนให้ครอบคลุมโครงการทุกรูปแบบ โดยบางรายหันมาลงทุนในคอนโดมิเนียม โรงแรม และพื้นที่ค้าปลีก   ขณะที่ปัจจุบันผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างกำลังกระจายการลงทุนออกนอกภาคธุรกิจที่ตนเชี่ยวชาญอีกครั้ง เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับธุรกิจหลัก และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียวมากเกินไป   ด้วยการนำธุรกิจที่เป็นองค์ประกอบด้านไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี อาหาร และการบริการ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในพอร์ตการลงทุน”

อสังหาฯไทย กระจายลงทุน ข้ามธุรกิจ รับตลาดเสี่ยง

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของผู้พัฒนาโครงการที่พักอาศัยในไทย คือ การเปลี่ยนจากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไปสู่การกระจายความเสี่ยง   จากวัฏจักรของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตการเงินในเอเชียเมื่อปี 2540  ส่งผลให้ผู้พัฒนาโครงการที่พักอาศัยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงการบ้านหรือคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และผู้พัฒนาบางรายจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะตลาดเดียว แต่เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันสูงขึ้น ผู้พัฒนาหลายรายจึงพยายามกระจายความเสี่ยง โดยเริ่มต้นจากขยายการพัฒนาโครงการไปยังจังหวัดอื่นหรือตลาดระดับอื่น   ซึ่งการพัฒนาโครงการในหลากหลายทำเลถือเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการกระจายการลงทุน

มีผู้พัฒนาโครงการบางรายได้บุกเบิกกลยุทธ์การกระจายการลงทุนด้วยการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยหลากหลายประเภทและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันในตลาดหรือลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ เช่น เอพี (ไทยแลนด์) ได้ขยายไปสู่การพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียมในทุกระดับ รวมถึงแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่ลงทุนในคอนโดมิเนียม โรงแรม และศูนย์การค้า นอกเหนือจากโครงการบ้านจัดสรร

 

“แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าผู้พัฒนาโครงการที่พักอาศัยหลายรายได้วางกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงในช่วงเวลาเดียวกับที่มีความท้าทายมากที่สุดเท่าที่ไทยและทั่วโลกเคยเจอทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเงิน   ตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างมาก และเพื่อความอยู่รอด ผู้พัฒนาโครงการที่พักอาศัยได้พยายามอย่างหนักที่จะเคลียร์ยูนิตที่ยังเหลือขาย  ระงับการพัฒนาโครงการใหม่ และหันหลับมาประเมินกลยุทธ์สำหรับในอนาคต    หลายรายตัดสินใจว่าเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะกระจายการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมอื่นนอกตลาดอสังหาริมทรัพย์” 

 

ตัวอย่างเช่น พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟคได้ร่วมทุนกับพันธมิตรในธุรกิจถุงมือยาง  และก่อนเกิดการแพร่ระบาด พฤกษา โฮลดิ้งได้การกระจายการลงทุนครั้งสำคัญด้วยการขยายสู่ธุรกิจการแพทย์และสุขภาพด้วยการก่อตั้งและเปิดให้บริการโรงพยาบาลวิมุต

 

ขณะที่ในปีที่แล้ว ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวนหนึ่งได้ประกาศแผนที่จะกระจายความเสี่ยงสู่ธุรกิจที่ตอบรับเทรนด์ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงฟินเทค เทคโนโลยี และสินค้าอุปโภคบริโภค    แสนสิริได้กำหนดกลยุทธ์ในอนาคตเพื่อเข้าสู่ธุรกิจใหม่เกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพและพลังงานสะอาด   โดยก่อนหน้านี้แสนสิริได้ลงทุนในฟินเทค สินทรัพย์ดิจิทัล และเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า   ในขณะที่ณุศาศิริประกาศแผนที่จะเปลี่ยนสู่การเป็นบริษัทโฮลดิ้งภายในปีนี้เพื่อลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งรวมถึงธุรกิจด้านสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตร และเทคโนโลยี    ด้านผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่น ๆ เลือกที่จะนำแนวทางดั้งเดิมในการกระจายความเสี่ยงมาใช้โดยการเพิ่มองค์ประกอบเสริมเข้าไปในโครงการอสังหาริมทรัพย์ เช่น แอสเซทไวส์ ประกาศแผนความร่วมมือกับบางกอกเฮลท์แคร์ เซอร์วิส ในการสร้างศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับผู้สูงอายุในบางโครงการ