รับสร้างบ้าน ผวา! ขาดแรงงาน - ค่าจ้างพุ่ง ทุบซ้ำต้นทุน

16 มี.ค. 2565 | 09:01 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2565 | 17:17 น.
1.5 k

ตลาดรับสร้างบ้าน ปัจจัยลบรุมเร้า สงครามรัสเซีย ยูเครน ดันราคาน้ำมัน วัสดุก่อสร้างพุ่ง เหล็กขึ้นเท่าตัว ต้นทุนบวก 20% ผู้ประกอบการแบกไม่ไหว จ่อปรับราคาบ้านปีนี้ 5-8% ขณะนายกสมาคม ผวาต่อ รอยต่อโควิด แรงงานขาด แนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้น กระทุ้งยกแผง

ตลาดบ้านสร้างเอง ที่มีมูลค่ารวมทั้งประเทศมากถึงปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท สัดส่วนประมาณ 20-25% ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ เป็นอีกตลาดใหญ่ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระบบ ขณะตลาดรับสร้างบ้าน ซึ่งดำเนินโดยบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำ กระจุกตัวหนาแน่นในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑลนั้น กำลังถูกท้าทายจากหลายปัจจัยลบรุมเร้าเช่นกัน 

 

ภาพการเติบโตที่เกิดมาอย่างต่อเนื่อง ถูกฉุดด้วยภาวะวิกฤติโควิด19 มูลค่าการสั่งปลูกสร้าง (ยอดขาย) รวมทั้งปี 2564 หล่นไปอยู่ที่ 1.25 หมื่นล้านบาท ซ้ำร้ายภาพฝัน การฟื้นตัวดีในปีนี้ กลับเจอวิกฤติครั้งใหม่ สงครามรัสเซีย - ยูเครน ที่กำลังส่งผลต่อราคาน้ำมัน กระทบค่าขนส่ง และราคาวัสดุก่อสร้างอย่างรุนแรง เตรียมปลดล็อก วิงวอนผู้บริโภค ขอขึ้นราคาบ้าน 5-8% ในเดือนเมษายนนี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่ยังต้องเฝ้าระวังต่อ คือ ปัญหาขาดแรงงาน และ ค่าแรงขั้นต่ำที่มีแนวโน้มจะถูกปรับขึ้นรอบใหม่ ซึ่ง นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ระบุ นี่คือ 'หายนะ' ด้านต้นทุนอย่างวงกว้าง 

ประเมินปี 65 ตลาดทรงตัวอีกปี 

นายวรวุฒิ เปิดเผยเบื้องต้น ถึงภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้าน ว่าตลาดนี้เคยเติบโตสดใส เมื่อปี 2560 กทม. - ปริมณฑล มีมูลค่าราวๆ  1.1 หมื่นล้านบาท จนถึงปี 2562 ขยับมาอยู่ที่ 1.25 หมื่นล้านบาท สะท้อนภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อลูกค้ากลุ่มเฉพาะ ซึ่งมีที่ดินเป็นของตัวเอง ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ในปี 2563 ตลาดบ้านสร้างเองทั้งประเทศหดตัว ส่วนธุรกิจรับสร้างบ้าน  ได้รับผลกระทบไปตามๆกัน  หนักสุด ปี 2564 เผชิญการประกาศล็อกดาวน์แคมป์ก่อสร้าง ทำให้ยอดจองสร้างบ้านหายไปมาก อย่างไรก็ดี การกลับมาเร่งจัดงานรับสร้างบ้านและวัสดุ Focus2021 ในช่วงท้ายของปี ทำให้ปิดยอดทั้งปี อยู่ที่ 1.15 หมื่นล้านบาท 

รับสร้างบ้าน ผวา! ขาดแรงงาน - ค่าจ้างพุ่ง ทุบซ้ำต้นทุน

สำหรับปี 2565 นั้น ประเมินว่า จากยอดคนจองปลูกสร้างบ้านในงานข้างต้น ซึ่งเติบโตขึ้นมา 20% จากภาวะอั้น จะเป็นแรงส่งให้บริษัทต่างๆสามารถรับรู้รายได้ได้ดี ประกอบกับผู้คน เริ่มเชื่อมั่นกลับมาสร้างบ้านกันอีกครั้ง ทำให้ภาพ 2 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ.) ตลาดเต็มไปด้วยความคึกคัก ทั้งในกทม. และต่างจังหวัด มีปัญหางานล้น ขาดแรงงาน ก่อนเข้าสู่เดือนมีนาคม เผชิญกับแรงกัดดันใหม่ๆ จึงประเมินว่า ทั้งปี 2565 ตลาดอาจไม่เติบโต และมูลค่าทรงตัวอยู่ที่ 1.15 หมื่นล้านบาทเท่านั้น 

 

" แม้ความต้องการปลูกสร้างบ้านยังมีอยู่ แต่ต้องจับตามองปัจจัยต่าง ๆ ที่คาดว่าจะส่งผลต่อต้นทุนบ้าน ทั้งวิกฤตสงครามของประเทศรัสเซียและยูเครน ต้นทุนราคาน้ำมัน ว่าจะปรับขึ้นไปถึงระดับที่ส่งผลโดยตรงต่อราคาบ้าน ค่าแรงที่มีแนวโน้มปรับขึ้น ราคาวัสดุก่อสร้าง ปัญหาเงินเฟ้อ และทิศทางดอกเบี้ย "

กระอักต้นทุนหวั่นเหล็กพุ่ง 2เท่าตัว 

นายกสมาคมฯ ระบุต่อ อาจต้องยอมรับ ว่าตลาดรับสร้างบ้านปีนี้ มีปัจจัยลบมากกว่าบวก 
แม้สถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบัน มีอัตราป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตน้อยลง ได้ช่วยคลายความกังวลถึงความรุนแรงของโรค ทำให้วันนี้ การเดินทาง กิจกรรมค้าขาย ห้างร้านต่างๆ กลับมาปกติ รวมไปถึง การที่ภาครัฐ ไม่มีนโยบายล็อกดาวน์ ทำให้เม็ดเงินทางเศรษฐกิจยังเกิดขึ้น อีกด้านการส่งออกแนวโน้มดี  และการที่โควิดไม่ได้น่ากังวลอย่างที่คิด ได้กระตุ้นให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว เห็นชัดจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดือน ม.ค.เดือนเดียว ราว 1.3 แสนคน ฉะนั้น เมื่อเศรษฐกิจมีสัญญาณดี ก็จะกระตุ้นให้คนมีเงิน กลับมาตัดสินใจปลูกสร้างบ้าน 

รับสร้างบ้าน ผวา! ขาดแรงงาน - ค่าจ้างพุ่ง ทุบซ้ำต้นทุน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบใหญ่ คือ ผลพ่วงจากวิกฤติราคาพลังงาน ที่มาจากความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้นมานับเท่าตัว ซ้ำเติมภาวะก่อนหน้าที่แพงมาระยะนึงแล้ว โดยเฉพาะเหล็ก ประเมิน ราคาจะถีบตัวขึ้นสูงอีกนับ 2 เท่าตัว  หากวิกฤติรัสเซียไม่หยุด และที่ยุโรปคว่ำบาตร ลดการใช้ก๊าซ มาใช้น้ำมันดีเซลแทน จะกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นต้นทุนด้านขนส่งของวัสดุก่อสร้าง และอาจจะลามถึงการนำเข้า - ส่งออกด้วย 

 

ทั้งนี้ คาดต้นเดือน เมษายน นี้ อาจมีการขอปรับขึ้นราคาบ้านครั้งใหญ่ คาดอย่างต่ำ 5-8% จากราคาปลูกสร้างบ้านปัจจุบัน ซึ่งเริ่ม 1.8 หมื่นบาทต่อตร.ม.  แล้วแต่รูปแบบและขนาดของบ้าน เนื่องจากผู้ประกอบการ ระบุเป็นเสียงเดียวกัน ว่าไม่สามารถตรึงราคาต้นทุนได้อีกต่อไปแล้ว หลังจากพยายามคงราคาไว้ให้ผู้บริโภคมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

รับสร้างบ้าน ผวา! ขาดแรงงาน - ค่าจ้างพุ่ง ทุบซ้ำต้นทุน

" เจาะราคาเหล็ก จากกิโลกรัมละ 17-18 บาท ปัจจุบัน พุ่งขึ้นมา อยู่ที่กิโลกรัมละ 27-28 บาท กลุ่มโลหะราคาสูงขึ้น 60% รวมถึง อะลูมิเนียม ทองแดง และ นิกเกิล ที่หลังจากรัสเซียเปิดฉากสงคราม พบราคาเพิ่มขึ้นมาถึง 60% โดยวัสดุกลุ่มนี้จะไปกระทบต้นทุน งานเชิงโครงสร้าง งานวางระบบไฟฟ้า ให้เพิ่มขึ้น ราว 20-30% ต่อต้นทุน/หลัง "

 

"ราคาบ้านปีนี้ ประเมินจะขึ้นราว 5-8% จากภาวะอั้นไม่ไหว โดยเฉพาะกลุ่มเหล็ก โลหะ ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อเพิ่มกำไร แต่เพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้น "


ผวาแรงงานขาด - ค่าจ้างสูง

อีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การเติบโตของภาคธุรกิจนี้ต้องจับตามอง คือ ปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เป็นภาวะตึงเครียดของผู้ประกอบการมาก เพราะรัฐบาลยังไม่ได้เปิดนโยบายแรงงานเสรี แรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมขณะนี้เป็นแรงงานเดิมๆ และแก้ปัญหาด้วยการนำเทคโนโลยี มาทดแทน ที่ผ่านมา ภาคอสังหาฯใหญ่ชะลอตัวลง ทำให้ยังพอมีแรงงานไหลเข้ามา แต่พบว่าขณะนี้ ตลาดที่อยู่อาศัยหลัก เริ่มกลับมา หลังจากเคลียร์สต็อกหมด บริษัทต่างๆ ประกาศแผนพัฒนาจำนวนมาก จึงหวั่นอาจทำให้แรงงานถูกดึงกลับไป และต้องดิ้นร้นหาแรงงานใหม่ จึงขอวิงวอนให้รัฐบาลเร่งปลดล็อกนำเข้าแรงงานต่างด้าว

 

" ปัญหาขาดแคลนแรงงานน่ากังวล ซ้ำร้ายล่าสุด ซาอุฯเปิดรับแรงงานไทยอีก หากรัฐไม่แก้ปัญหาเก่า และ เปิดรับแรงงานใหม่ จะทำให้แรงงานอุตสาหกรรมก่อสร้างยิ่งขาด พอขาดแคลน ค่าจ้างก็สูง ใกล้วันแรงงาน ถ้าถูกปรับขึ้น จากข้อเรียกร้องค่าครองชีพสูงนั้น น่าจะกดดันตลาดอย่างมาก"


ขึ้นค่าแรง30-40%ดันบ้านราคาพุ่ง 

นายวรวุฒิ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากแนวโน้ม การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทนั้น จะส่งผลกระทบทั้งระบบ  เนื่องจาก ในปัจจุบันค่าแรงที่แรงงานได้รับส่วนใหญ่ ก็ได้สูงกว่าขั้นต่ำอยู่แล้ว ในบางเคสที่ต้องใช้แรงงานทักษะสูงจะอยู่ที่ 500-700 บาทต่อวัน ส่วนแรงงานที่แม้ไม่มีทักษะก็จะอยู่ที่ 331 บาท ซึ่งหากมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำย่อมมีผลให้ค่าแรงต้องยกขึ้นทั้งระบบและจะส่งผลต่อราคาบ้านในอนาคตได้ 

 

" ขณะนี้กังวลเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ที่แรงงานกำลังเรียกร้อง จาก 300 มาเป็น 500 บาท/วัน เราประเมินว่า ถ้าขึ้นไปถึงจุดนั้น คงกระทบทั้งโครงสร้างค่าจ้าง เพราะตัวเลขจะไปชิดกับเพดานของกลุ่มแรงงานระดับบนถัดไป พอเป็นเช่นนี้ ต้นทุนผู้ประกอบการตามห้างร้านต่างๆ ก็จะสูงขึ้น นำมาซึ่งการปรับราคาวัสดุต่างๆอีกครั้ง "

 

ทั้งนี้ สมาคมยังรอผลประชุมระหว่างเครือข่ายนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งกำลังเคาะหาทางออกกันอยู่ ก่อนประกาศช่วงวันแรงงาน ซึ่งท้ายที่สุด ผลเป็นอย่างไร ผู้ประกอบการก็พร้อมปฎิบัติตาม เพียงแต่ประเมินว่า การขึ้นค่าแรงหากไม่เกิน 10-15% จะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อต้นทุนการสร้างบ้าน แต่หากปรับค่าแรงขึ้นถึง 30-40% จะส่งผลค่อนข้างมาก ซึ่งได้มีการเตรียมแผนรับมือไว้ในหลายส่วนด้วยกัน โดยเริ่มจากการนำเสนอสิ่งที่เป็นผลกระทบต่อผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน ในที่ประชุมกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อประเมินสถานการณ์ และเพื่อให้มองภาพรวมของตลาดชัดเจนขึ้นในทิศทางเดียวกัน พร้อมให้แนวทางผู้ประกอบการ เร่งการบริหารต้นทุน ตัดส่วนเกินค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและลดต้นทุนได้ เพื่อให้ยังพอมีกำไรเหลือ เพราะการปรับราคาบ้านอย่างต่ำราว 5% คงไม่ได้เพียงพอ กับแนวโน้มต้นทุนในอนาคต