โฉนดเพื่อชีวิต มท.-กรมที่ดิน เพิ่มหลักประกันเพื่อประชาชน ขับเคลื่อนศก.

01 พ.ย. 2564 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2564 | 21:00 น.

มท.-กรมที่ดิน ลุยแปลง น.ส.3ก เป็นโฉนดขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ" นิพนธ์ บุญญามณี" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เร่งออกโฉนดทั่วประเทศลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มหลักประกันเพื่อประชาชน

 

 

จากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางสังคม มีประชาชนจำนวนมาก ไม่สามารถ เข้าถึง โฉนดที่ดินหรือได้รับหนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ที่รัฐออกให้อย่างถูก ต้องตามกฎหมาย กระทรวงมหาดไทย จึงมีนโยบายจัดทำแผนเดินสำรวจออกโฉนดระยะยาวครอบคลุมทั่วประเทศ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กรมที่ดิน จัดสัมมนารูปแบบ Virtual Seminar“โฉนดเพื่อชีวิต”  เดินหน้าสร้างโอกาสเพิ่มหลักประกันเพื่อประชาชน เมื่อวันที่27ตุลาคม2564 โดยมีนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวปฐกถาพิเศษทิศทางหัวข้อ”ทิศทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจแปลง น.ส.3ก เป็นโฉนด”และ นายนิสิต จันทร์สมวงศ์อธิบดีกรมที่ดิน บรรยายพิเศษ หัวข้อ”กรมที่ดินกับนวัตกรรมการออกโฉนด”

ลดเหลื่อมล้ำสร้างหลักประกันให้ประชาชน

นายนิพนธ์   บุญญามณี  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่น ตั้งใจลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินจึงได้มอบนโยบายให้กรมที่ดินเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชน นอกเขตที่ดินของรัฐ โดยที่ดินของรัฐ คือพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่เขตป่า พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน (สปก.) หรือพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ซึ่งที่ดินของรัฐเหล่านี้ไม่สามารถนำมาออกโฉนดที่ดินได้

ส่วนที่ดินน.ส.3 หรือที่ดินน.ส.3ก หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินยังสามารถนำมาออกโฉนดที่ดินได้ ปัจจุบันมีประมาณ 4.5ล้านแปลง ยังไม่ได้ออกเป็นโฉนดที่ดิน กรมที่ดินตั้งใจเร่งรัดเปลี่ยนที่ดินน.ส.3 -น.ส.3ก ให้เป็นโฉนดที่ดิน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้พื้นที่ในการทำประโยชน์ เพราะสถานะของเอกสาร ความสำคัญระหว่างที่ดินน.ส.3และที่ดินน.ส.3ก และโฉนดที่ดิน ฐานะความมั่นคงทางกฎหมายแตกต่างกัน

กรณีที่เป็นน.ส.3ก การครองครองปรปักษ์ หรือครอบครองทรัพย์ผู้อื่นโดยสงบ ใช้เวลาทางกฎหมายแพ่งเพื่อครอบครองเพียง 1 ปี กรณีทีเป็นโฉนดที่ดินจะมีการครองรองหรือแอบอ้างสิทธิได้ต้องใช้เวลา 10 ปี ฉะนั้นความมั่นคงดังกล่าว เป็นที่มาให้สถาบันการเงินบางแห่งเริ่มส่งสัญญาณไม่รับที่ดินน.ส.3หรือน.ส.3ก เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ หากเป็นเช่นนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นอย่างเต็มที่และนำเอาที่ดินนั้นมาใช้ในการทำธุรกิจได้

ดังนั้นจึงได้เร่งรัดในการเปลี่ยนที่ดินน.ส.3และน.ส.3ก ให้เป็นโฉนดที่ดิน นี่คือนโยบายที่ได้มอบหมายให้กรมที่ดินดำเนินการควบคู่กับการเดินสำรวจในพื้นที่ที่ถูกประกาศ โดยที่ดินที่ถือครองเอกสารที่เรียกว่า ส.ค.1 หรือหลักฐานแจ้งการครอบครองที่ดิน  นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553  กรมที่ดินประกาศให้ผู้ที่ถือครองเอกสารส.ค.1 แจ้งความประสงค์ขอออกโฉนดที่ดิน ขณะนั้นมีกว่า4แสนฉบับดำเนินการแล้ว 2แสนฉบับ อยู่ระหว่างดำเนินการ2แสน ฉบับจะเห็นได้ว่ากรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทยมีความตั้งใจในการให้ประชาชนเข้าถึงการใช้สิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มที่

โฉนดเพื่อชีวิต มท.-กรมที่ดิน เพิ่มหลักประกันเพื่อประชาชน ขับเคลื่อนศก.

งบ’65ออกโฉนดคลุมทั่วประเทศ

ปี 2564 กรมที่ดินได้เดินสำรวจที่ดินทั่วประเทศใน 50 จังหวัด ในปี 2565 ประกาศสำรวจจังหวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินเพิ่มขึ้นเป็น 70  จังหวัด โดยใช้งบประมาณ 372 ล้านบาท ในการเดินสำรวจ ซึ่งเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2564-30 กันยายน 2565 ภายใต้งบประมาณที่จำกัด สำหรับเหตุผลที่ต้องใช้งบประมาณเพราะในกรณีที่กรมที่ดินประกาศเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินและพื้นที่ใดที่ถูกประกาศแล้ว  ประชาชนจะเสียค่าคำร้อง เพียง 110 บาทต่อคำร้อง ต่างกับ กรณีเดินทางไปกรมที่ดินเพื่อขอออกโฉนด  จะเสียค่าใช้3,000-4,000 บาท ซึ่งรัฐบาลเข้ามาดูแลภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน จึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณ 

สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19ส่งผลให้มีการจำกัดการใช้งบประมาณ แม้ว่าปีนี้งบประมาณการเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินลดลง จะไม่นำปัญหาการจัดสรรงบประมาณมาหยุดโครงการ โดยพยายามปรับรูปแบบโครงการให้ประชาชนได้ประโยชน์ นี่คือสิ่งที่กรมที่ดินและกระทรวงมหาดไทยเร่งรัดดำเนินการ ทั้งนี้ในปี 2565 นี้ กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามประกาศและมอบหมายให้กรมที่ดินเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศทั้งหมด 70 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยเพิ่มจากปี 2564 ที่มีการประกาศเดินสำรวจ 50 จังหวัด และเมื่อปี 2563 มีการประกาศเดินสำรวจ 25 จังหวัด

กระทรวงมหาดไทยตระหนักดีว่าที่ดินคือชีวิต คือที่อยู่อาศัย เป็นที่ทำมาหากิน โดยเฉพาะประชาชนในประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เพราะฉะนั้นที่ดินจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การผลิต ซึ่งการจัดการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มที่ ทำให้ประชาชนมีอาชีพมีรายได้เลี้ยงครอบครัว อีกทั้งเป็นมรดกตกทอดสู่ลูกสู่หลาน ภายใต้ความคิดดังกล่าวจึงเร่งรัดให้ประชาชนได้เข้าถึงการออกเอกสารสิทธิและมีโฉนดที่ดินต่อไป