"กรมที่ดิน" พลิกโฉมงานบริการ นิสิต ลั่น! ออกโฉนดที่ดิน 1 แปลง 90 วันต้องเสร็จ

27 ต.ค. 2564 | 15:05 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2564 | 22:35 น.
2.9 k

อธิบดีกรมที่ดิน รับลูก นโยบายกระทรวงมหาดไทย สั่งสำนักงานที่ดิน 461 แห่งทั่วประเทศ ปรับโฉมการทำงาน ลุยออกโฉนดที่ดินให้ประชาชน ผ่านนวัตกรรมดาวเทียม ลดกรอบเวลา หากไม่มีข้อพิพาท 90 วันต้องแล้วเสร็จ

27 ต.ค. 2564 - เจาะนโยบายการออกโฉนดที่ดิน ของกรมที่ดิน โดยนายนิสิต จันทร์สมวงศ์  อธิบดีกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ " กรมที่ดินกับนวัตกรรมการออกโฉนดที่ดิน" ในงานสัมนา "โฉนดเพื่อชีวิต" ซึ่งจัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า ที่ผ่านมา กรมที่ดินได้ ริเริ่มนำเทคโนโลยี - นวัตกรรม เข้ามาช่วยในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ ปี 2563 ภายใต้วิสัยทัศน์ " ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง " ได้แก่ 

4 นวัตกรรมกรมที่ดิน พลิกโฉมงานบริการ 

1. ริเริ่มการนำแอปพลิเคชั่น e-QLands (นัดจดทะเบียนล่วงหน้า) มาใช้บริการประชาชน หลังจาก ที่ผ่านมา ประชาชนที่ติดต่อธุรกรรมกับกรมที่ดิน มักเจอกับปัญหา คิวหนาแน่นและรอเป็นเวลานานในแต่ละวัน ทำให้ประชาชนเสียเวลา และค่าใช้จ่ายมหาศาล ซึ่งแอปดังกล่าว สามารถเข้ามารองรับ การนัดหมายเวลาที่แน่ชัด ไม่ว่าจะต้องการ การวัดที่ดินเพื่อสำรวจขนาดพื้นที่สำหรับออกเอกสารสิทธิ (รังวัด) หรือ ทำธุรกิจอื่นๆ และมีประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับประชาชน ที่มีความจำเป็นต้องทำธุรกรรมในพื้นที่ต่างจังหวัด ช่วยลดค่าใช้จ่ายอื่นๆลงได้ โดยหลังจากมีการนำแอปe-QLands มาใช้งาน พบว่า ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ จนถึง ปัจจุบัน สามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มากกว่า 108,600 ราย

 

" QLands ทำให้การติดต่อระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน สะดวกสบายมากขึ้น ผ่านการเตรียมพร้อมด้านเวลา และเอกสารสำคัญ ทั้ง 2 ฝ่าย ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งช่วยลดทอนระยะเวลาทำนิติกรรมให้สั้นลง " 

2. การนำ ระบบ  LandsMaps (ค้นหารูปแปลงที่ดิน) มาปรับใช้ ผ่านการนำโฉนดที่ดินทั้งหมดทั่วประเทศ 34.4 ล้านแปลง ย่อลงในแผนที่ภูมิศาสตร์ และใช้แพลตฟอร์ม Google ในการค้นหารูปแปลงที่ดินทั้งประเทศ พบหลังจากนำมาใช้งาน ประชาชนตอบรับ และให้ความชื่นชมอย่างมาก เฉลี่ยผู้ใช้งาน 21 ล้านครั้งต่อปี 

 

" วันนี้ผู้ใช้งานเพียง แค่กรอกเลขโฉนดที่ดิน และเลขระวางของที่ดินตนเองลงไป ระบบจะแสดงรายละเอียดของแปลงที่ดินทุกประการ เช่น ที่ตั้ง ราคาประเมิน ราคาที่ดิน แม้กระทั่้งโซนนิ่งของผังเมือง ที่สำคัญ ระบบยังแสดงลึกไปถึง Street View หรือ แสดงสภาพแวดล้อมเสมือนของแปลงที่ดินดังกล่าว " 

 

3. SmartLands แอปเดียวจบของกรมที่ดิน ซึ่งจะรวบรวมสาระและความเคลื่อนไหวสำคัญของกรมที่ดิน เช่น ความรู้ที่เป็นประโยชน์ , ระบบนัดหมาย ,อัพเดทราคาประเมินที่ดิน ,การคำนวณภาษีอากร ,ที่ดินสาธารณะ , แผนผัง-แผนที่ ,ขั้นตอนการทำธุรกรรมกับกรมที่ดิน ,การค้นหาประเภทของที่ดิน โดยปัจจุบัน มียอดดาวน์โหลดเพื่อนำไปใช้งานแล้วทั้งสิ้นมากกว่า 2 แสนราย 

 

"ภายใน แอปฯ SmartLands ยังมีแอปย่อยๆอีกเป็นจำนวนมาก เช่น สารานุกรมที่ดินรูปแบบอิเล็กทรนิกส์ รูปแบบคลิปวิดีโอให้ความรู้มากกว่า 160 เรื่อง เช่น ราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศโดยกรมธนารักษ์ , ไขข้อข้องใจการจำนองที่ดิน , การขายฝากที่ดินทำอย่างไร ,การรับมรดก , การทำหนังสือมอบอำนาจ และ ขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์ เป็นต้น "

 

4.ระบบ E-Lands Announcement การค้นหาประกาศของสำนักงานที่ดินผ่านอิเล็กทรนิกส์ เพื่อรักษาสิทธิ์ของประชาชน แก้โจทย์ ประชาชนตกหล่นประกาศ ซึ่งแต่ละปีมีมากกว่า 4 แสนฉบับ โดยรูปแบบ ประชาชนสามารถ สืบค้นประกาศสำคัญๆของกรมที่ดินแต่ละสาขา ได้ง่ายและสะดวก 

 

5.Line@ของกรมที่ดิน นับเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทย และเพิ่มความสะดวกสบายในการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่กรมที่ดินและประชาชนผู้ต้องการทำนิติกรรมต่างๆ ง่ายต่อการสอบถาม , ติดตามการทำงาน นับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว โปร่งใส 

 

6.การคิดคำนวณภาษีและค่าอากร ในรูปแบบเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการตรวจสอบ คำนวณด้วยตนเอง ลบข้อครหา ความไม่โปร่งใสในการทำงาน 

 

การออกโฉนดที่ดิน 90 วันต้องเสร็จ

นายนิสิต ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมที่ดินได้มุ่งเน้นการพัฒนา มาตรฐานระบบรังวัดที่ดิน (การตรวจสอบขนาดของที่ดินที่ต้องการซื้อ-ขาย ) โดยเป้าหมายสูงสุด เพื่อนำไปสู่การออกโฉนดที่ดินที่ถูกต้อง รักษาสิทธิของเจ้าของที่ดิน ส่วนระยะเวลาการดำเนินการนั้น จะถูกย่นอยู่ในกรอบไม่เกิน 50 วัน ตามนโยบายของพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 

 

โดยระบบที่นำมาใช้ ได้แก่ โครงการยกระดับการรังวัดที่ดินด้วยระบบดาวเทียม ผลที่ได้รับ คือ การยกระดับการรังวัดที่ดินให้ได้มาตรฐานสากล นำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย ซึ่งการทำงานลักษณะนี้มีความแม่นยำสูง ,คลาดเคลื่อนน้อย, แก้พื้นที่ทับซ้อนในระวางแผนที่ , ป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐ อีกทั้ง ก่อให้เกิดความรวดเร็วขึ้น เทียบกับอดีต ที่เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ต้องอาศัยการส่องกล้อง - แบกเชือก - ตอกหมุด ซึ่งยุ่งยากและเสียเวลา 

 

ขณะปัจจุบัน ใช้เครื่องมือ ซึ่งเป็นเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม (RTK GNSS Network) สามารถบอกพิกัดของที่ดินได้ชัดเจนไม่ผิดเพี้ยน ช่วยลดข้อพิพาทระหว่าง เอกชนกับรัฐ และเอกชนด้วยกันเอง หรือ การออกเอกสารสิทธิในที่ดินผิดพลาดคลาดเคลื่อน และ ไม่ก่อให้เกิดความล่าช้า สิ้นเปลืองในการระวังชี้แนวเขต อีกทั้ง ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในเอกสารสิทธิที่ดิน ผ่านการออกโฉนดที่ถูกต้อง ครอบครองสิทธิ์อย่างเป็นธรรม และยังมีผลต่อศักยภาพการแข่งขันระดับประเทศอีกด้วย

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กรมที่ดิน ยังมีนโยบาย สั่งให้ สำนักงานที่ดิน จำนวน 461 แห่งทั่วประเทศ ให้บริการประชาชนในการขอออกโฉนดที่ดิน ในประเภทที่ดินปกติ (ไม่มีกรณีพิพาท) อยู่ในกรอบระยะเวลา 90 วัน / 1 แปลง เพื่อตอบโจทย์ประชาชนที่ต้องการสิทธิครอบครองที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากอดีตมีระยะเวลาดำเนินการนานถึง 2 ปี