โควิด - น้ำท่วม กระทบ COTTO ไตรมาส 3 ทำกำไร 162 ลบ.

27 ต.ค. 2564 | 11:44 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2564 | 18:49 น.

บมจ. เอสซีจี เซรามิกส์ หรือ COTTO เผย สถานการณ์น้ำท่วม ,โควิด-19 และ ล็อคดาวน์เข้ม กระทบยอดขาย กำไรไตรมาส 3 หดตัว 5% พร้อมจับตาตลาดน้ำมันโลก กระทบต้นทุน

27 ต.ค. 2564 - นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด มหาชน (COTTO) ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์คอตโต้ (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA) เปิดเผยถึงงบการเงินรวมก่อนสอบทาน ของ COTTO ในไตรมาสที่ 3  ปี 2564 ว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 2,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไร 162 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 และสถานการณ์อุทกภัยในหลายจังหวัด ส่งผลให้ปริมาณการขายกระเบื้องเซรามิกลดลง แต่สามารถปรับราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย โดยในไตรมาสนี้บริษัทมีรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหนองแค 131 ล้านบาทด้วย
 

นายนำพล กล่าวว่า เมื่อมองย้อนไปปีก่อนมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ต้นไตรมาส แต่ในปีนี้สถานการณ์กลับกัน คือ มีการประกาศบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ขั้นสูงสุดจากการกลับมาระบาดของโควิดระลอกที่ 3 ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้มีผลกระทบโดยตรงกับยอดขายในกลุ่มงานโครงการแต่ยังทรงตัวในส่วนของช่องทางโมเดิร์นเทรดและคลังเซรามิค สำหรับยอดขายต่างประเทศลดลงในส่วนของพม่า กัมพูชาและลาว ตามสถานการณ์โควิด-19   

 

ขณะที่ยอดขายตลาดต่างประเทศในโซนอื่น ๆ เริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงมากเป็นผลดีกับการส่งออก ด้านเศรษฐกิจในประเทศ แม้ว่าจะเริ่มมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่าย การลงทุนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐแต่ช่วยพยุงกำลังซื้อได้เพียงบางส่วน เนื่องจากตลาดยังมีความกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ประกอบกับสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัดช่วงปลายไตรมาสที่ผ่านมา 

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา นายนำพล คาดว่า สถานการณ์จะดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ โดยหลังจากน้ำลดแล้วผู้บริโภคน่าจะมีความต้องการซื้อสินค้าเพื่อซ่อมแซมและตกแต่งบ้านมากขึ้น สอดคล้องไปกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทางภาครัฐ


“คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่ทยอยออกมาในช่วงปลายปี จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 จนถึงต้นปีหน้าให้ฟื้นขึ้น แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตามองในขณะนี้ คือ เรื่องสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่ผ่านมา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิต ทั้งทางด้านพลังงานและด้านโลจิสติกส์ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อไปอีกระยะหนึ่ง และเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องเตรียมรับมือ”