ซีพี ปัดข่าวลงทุนสร้าง “ซุปเปอร์ทาวเวอร์” ที่ดินมักกะสัน

09 ต.ค. 2564 | 18:54 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2564 | 02:02 น.
3.2 k

ซีพี เดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้โครงการพัฒนาที่ดินมักกะสัน พร้อมปัดข่าวลือ "ซุปเปอร์ทาวเวอร์" ย้ำเป็นเพียงหนึ่งในหลายรูปแบบที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้

แหล่งข่าวระดับสูงจากเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) เปิดเผยว่า กรณีที่ปรากฏข่าวว่าเครือ ซีพีเตรียมดำเนินโครงการซุปเปอร์ทาวเวอร์ ในไทยนั้น  เป็นเพียงผลการศึกษาความเป็นไปได้หนึ่งในหลายรูปแบบ และต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของโครงการด้วย โดยเฉพาะรูปแบบอาคารที่มีการนำเสนอข่าวนั้น เป็นเพียงการออกแบบความเป็นไปได้ของการใช้พื้นที่จากที่ปรึกษาเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งไม่ทราบว่าข่าวนี้มีการนำกลับมาเสนอได้อย่างไร และไม่ได้มาจากซีพีอย่างแน่นอน เพราะกำลังอยู่ในช่วงศึกษารูปแบบความเป็นไปได้ซึ่งมีหลายรูปแบบ และต้องเลือกรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด

ซีพี ปัดข่าวลงทุนสร้าง “ซุปเปอร์ทาวเวอร์” ที่ดินมักกะสัน

ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวจากวงการพัฒนาที่ดินเปิดเผยว่า การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์(TOD)รอบสถานีมักกะสัน 140 ไร่ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบโครงการให้เหมาะสมสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยก่อนหน้านี้นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะพัฒนาที่ดินแปลงนี้ให้เป็น Global Gateway ในรูปแบบมิกซ์ยูสที่มีขนาดใหญ่ระดับโลก เชื่อมกับ 3 สนามบิน ด้วยรถไฟความเร็วสูงที่ซีพีชนะการประมูล โดยมีการว่าจ้างสถาปนิกชั้นนำจากประเทศไทยและระดับโลกมาช่วยกันออกแบบ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปว่าซีพีจะพัฒนาหรือออกแบบโครงการนี้ในรูปแบบใด

 

เนื่องจากซีพีต้องการให้โครงการ TOD มักกะสันเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย และต้องเชื่อมโยงกับอีอีซี รวมถึงรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อให้ที่ดิน 140 ไร่แปลงนี้เป็นประตูบานแรกเปิดรับคนทั่วโลกเข้าสู่ประเทศไทย โดยใช้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) แม่เหล็กสำคัญเชื่อมระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี  และพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครเข้าด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า รูปแบบโครงการย่านมักกะสันจะเป็นเช่นไร แม้ว่าจะยังไม่มีการยืนยันว่าจะมีซุปเปอร์ทาวเวอร์หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ สถานีมักกะสันจะเป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางธุรกิจแห่งใหม่ (New CBD)และดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศอย่างแน่นอน เพราะสถานีมักกะสันคือประตูสู่อีอีซี