ลุยสะพานเกียกกายเวนคืนบ้าน284หลัง ที่ดิน405แปลง

29 ก.ย. 2564 | 14:18 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2564 | 21:47 น.
7.5 k

ครม. บิ๊กตู่ สั่งกทม. ลุยโครงการก่อสร้างสะพานเกียกกาย -แนวถนน เชื่อมต่อ รวม5เขต เวนคืนบ้าน284หลัง ที่ดิน405แปลง ย่านฝั่งธนบุรี มากสุด ส่วนฝั่งพระนครแค่ขยายเขตทาง รวมกว่า10กิโลเมตร

 

ภายหลังกรุงเทพมหานครปรับแบบก่อสร้างโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกายและถนนเชื่อมต่อ  เพื่อไม่ให้ ตัวสะพาน ชิดกับตัวอาคารรัฐสภาและ ลดระดับความสูงของตัวสะพานไม่ให้บดบังทัศนียภาพ รวมทั้ง ปัญหาคัดค้านจากมวลชนที่ระบุว่า ไม่ควรก่อสร้างสะพานแห่งนี้ ทำให้โครงการล่าช้าออกไปกว่า10ปี โดยมูลค่าในขณะนั้น 1.2หมื่นล้านบาท(รวมค่าเวนคืน)

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงจตุจักร แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้

 การเวนคืนตลอดแนว มีสิ่งปลูกสร้างของเอกชนถูกกระทบ 284 หลังคาเรือน และที่ดินจำนวน 405 แปลงซึ่งมีการสำรวจไว้เดิม  โดยบริเวณฝั่งธนบุุรีหรือถนนจรัญสนิทวงศ์ได้รับผลกระทบมากที่สุด  ส่วนฝั่งพระนคร เขตดุสิตส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของหน่วยงานราชการที่ดินราชพัสดุทหารใช้ประโยชน์ปัจจุบันได้รับค่าชดเชยรื้อย้ายปลูกสร้างอาคารพักอาศัยแห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ในอีก1เดือน นับจากนี้  พ.ร.ฎเวนคืนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และติดประกาศตามแต่ละสำนักงานเขตและสำนักงานที่ดิน เพื่อให้ประชาชน เอกชนเจ้าของที่ดิน มาโอนกรรมสิทธิ์ให้กับกทม.และรับค่าชดเชย

ด้านสำนักงานเขตสำนักงานเขตบางพลัดกทม.ระบุว่า  ขณะนี้ ประชาชนสามารถนำโฉนดเข้ามาตรวจสอบแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ได้ภายหลังจากรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่มา4ครั้งซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ คัดค้านอาจเป็นเพราะราคาที่ดินสูงขึ้นจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินพาดผ่าน

สำหรับ แนวสายทาง เริ่มจาก บริเวณแยกถนนทหาร ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้วิ่งเป็นทางลาด ถึงบริเวณข้างวัดแก้วฟ้าจุฬามณียกระดับเป็นตัวสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย  6ช่อง จราจร  จากนั้นลงบริเวณสู่พื้นราบบริเวณ ที่ดินของโรพยาบาลยันฮี  ลานจอดรถและร้านอาหารหัวปลาหม้อไฟช่องนนทรี ซึ่งเป็นที่ดินของทางโรงพยาบาลซื้อสะสมไว้

โดย ได้รับผลกระทบทั้งที่ดินในนามส่วนตัวและในนามของโรงพยาบาล ขณะเดียวกันยังมีที่ดินของบริษัทพฤกษาเรียลเอสเตทจำกัด(มหาชน) บางบริเวณ  โครงการบ้านสวนฉัตรซึ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียม ร้าง ของนายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ อดีตสถาปนิกชื่อดังตั้งอยู่ด้านหลังทางรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จรัญสนิทวงศ์ซอย 95/1 นอกจากนี้ยังมีอาคารบ้านเรือนตึกแถวย่านจรัญ สนิทวงศ์ข้างโรงพยาบาลยันฮี  และบริเวณด้านใน ซึ่งมีสภาพเป็นสวนถูกปล่อยรกร้างบริเวณถนนริมทางรถไฟ

ส่วนฝั่งเกียกกายเขตดุสิตจากถนนทหารไปยังจตุจักรถนนกำแพงเพชรกระทบไม่มากเพราะส่วนใหญ่เป็นแนวถนนเดิม จะมีการปรับปรุงเขตทางให้กว้างขึ้นพร้อมทั้งบางสายทางจะเวนคืน และก่อสร้างใหม่เพิ่มเติมให้สอดรับกับปริมาณจราจรในอนาคต ประกอบด้วยโครงการขยายถนนสามเสน-ถนน ประชาราษฎร์สาย 1 โดยขยายจาก 4 ช่องจราจรเป็น 8 ช่องจราจร ซึ่งจะเวนคืนด้านละ 1 ช่องจราจร ส่วนใหญ่จะเป็นอาคารพาณิชย์ที่ชิดริมถนน ตัวอย่างบ้านที่ถูกเวนคืนจะพิจารณาจากบ้านหลังละ 4 เมตร หากถนนยาว 40 เมตร เท่ากับเวนคืนบ้านที่ติดริมถนน 10 หลัง 

สำนักงานเขตบางพลัดระบุว่าบริเวณก่อสร้างสะพานข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยา บริเวณเกียกกายและถนนต่อเชื่อม ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ความยาวของสะพานรวมทางลาด 1กิโลเมตร โดยเส้นทางจะ ตัดผ่านตลาดบางอ้อ วิ่งตัดเข้ากับกับถนนจรัญสนิทวงศ์ ฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นอีกจุดที่จะสร้างทางต่างระดับขึ้นลงจากถนนจรัญสนิทวงศ์แนวจะตรงไปตัดกับแนวทางด่วนบางซื่อ-สะพานพระราม 6-ถนนบรมราชชนนี จะมีทางต่างระดับขึ้นลงเชื่อมกับถนนโลคัลโรดและทางด่วน แล้วค่อยๆ ลดระดับลงพื้นดิน

โดยแนวเส้นทางจะ ตวัดไปด้านซ้าย คู่ขนานไปกับถนนนครอินทร์ และไปเชื่อมกับถนนราชพฤกษ์และถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ หากก่อสร้างแล้วเสร็จ ในอีก2ปีข้างหน้า จะช่วยระบายรถได้เป็นอย่างดีนับ1แสนคันต่อวัน อีกทั้งยังสร้างความเจริญในพื้นที่ ช่วงที่มีการเวนคืนเขตทางใหม่ย่านฝั่งธนบุรีจะทำให้ราคาขยับสูงมีโครงการบ้านจัดสรรเข้าปักหมุดทั้งสองข้างทางอย่างแน่นอน