การเคหะแห่งชาติ อันดับ 1 ประเมินด้าน ด้านคุณธรรม-ความโปร่งใส

10 ก.ย. 2564 | 09:36 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2564 | 17:09 น.

การเคหะแห่งชาติ ได้รับคะแนนประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส 97.93 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100  เข้าเป็นอันดับ 1 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอันดับ 8 ของรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติย้ำ “ทำดี ทำได้ ทำทันที”

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเครือข่าย ได้ดำเนินการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment-ITA) ประจำปีงบประมาณ 2564 ผลปรากฏว่า การเคหะแห่งชาติ ได้คะแนน ITA 97.93 คะแนน จากคะแเต็ม 100 คะแนน เพิ่มสูงขึ้น 11.97 คะแนน จากปี 2563

 “เราเป็นหน่วยงานที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับ 1 ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอันดับ 8 ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมด เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง”

การเคหะแห่งชาติ  อันดับ 1 ประเมินด้าน ด้านคุณธรรม-ความโปร่งใส

นายทวีพงษ์ กล่าวต่อว่า องค์กรการเคหะแห่งชาติยังได้ผลการประเมิน AA ในระดับประเทศ ส่งผลให้แต่ละฝ่ายผ่านตัวชี้วัดในค่าระดับ 5 ซึ่งเป็นค่าสูงสุด และไม่มีประเด็นในการพิจารณาปรับลดงบประมาณที่เกี่ยวกับค่าคะแนน ITA

 “ต้องขอขอบคุณทีมผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานการเคหะแห่งชาติทุกท่าน หน่วยงานภายนอก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และทุกฝ่ายที่ร่วมจัดทำข้อมูล (Open Data) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการให้บริการของการเคหะแห่งชาติ และเพิ่มช่องทางการร้องเรียน เพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน เรายังคงมุ่งยึดหลัก ทำดี ทำได้   ทำทันที” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าว

       สำหรับหน่วยงานประเมิน ITA ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และคณะที่ปรึกษา 4 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มูลนิธิพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ITA เป็นเครื่องมือเชิงบวกที่มุ่งพัฒนาระบบราชการไทยในเชิงสร้างสรรค์มากกว่ามุ่งจับผิด              มีวัตถุประสงค์ให้หน่วยงานภาครัฐได้รับทราบสถานะ และปัญหาการดำเนินงานด้านคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กร ผลการประเมินจะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้ปรับปรุงพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการปฏิบัติงาน การให้บริการ และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ทั้งยังเป็นประโยชน์ในการจัดทำแนวทาง มาตรการ ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในปีงบประมาณต่อไปด้วย

       การประเมินเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 สิ้นสุด 31 กรกฎาคม 2564 ทั้งหมด 8,300 หน่วยงาน และยังมีประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามามีส่วนร่วมสะท้อนความเห็นอีก 1,331,588 คน