ลลิล รายได้ - กำไรโต ลุยเปิดใหม่ 10 - 12โครงการ เป้าขาย 7 พันล.

01 มี.ค. 2564 | 10:59 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2564 | 18:07 น.
1.5 k

“ลลิล พร็อพเพอร์ตี้” ประกาศแผนงานปี 64 เปิดใหม่10 – 12 โครงการ 6,000 – 7,000 ล้านบาท ตั้งเป้า ยอดขาย 7,000 ล้านบาท ภายใต้ สถานะการเงินแข็งแกร่ง

นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)  ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ในปี 2563 ที่ผ่านมาว่าเป็นปีที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19  ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง  โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกหดตัวราว 3.5%  ในขณะที่ประเทศไทย GDP ทั้งปีหดตัวไปที่ 6.1%   

ตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยของไทยก็ได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจ  ซึ่งเป็นการหดตัวที่ต่อเนื่องจากที่มีการชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 2562   ในแง่ของบริษัทเน้นกลยุทธ์การทำตลาดแนวราบที่เน้นลูกค้า Real Demand อย่างชัดเจน จึงได้รับผลกระทบที่น้อยกว่า  ตลอดจนบริษัทได้พยายามคัดสรรทำเลที่มีศักยภาพ   ตลอดจนพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนอง Customer Insights อย่างแท้จริง   จึงทำให้บริษัทยังคงสามารถบริหารงานผ่านปีที่ยากลำบากไปได้ โดยยังมีผลประกอบการที่เติบโต แม้ในภาวะตลาดอสังหาฯ โดยรวมที่ซบเซา

โดยบริษัทสามารถทำยอดรับรู้รายได้ได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมียอดรับรู้ทั้งปีที่ 5,765 ล้านบาท เติบโตขึ้น 24.2%  ในขณะที่มีกำไรสุทธิที่ 1,333.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.5%

สำหรับในปี 2564 นี้ คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของไทยจะขยายตัวได้ราว 3% บวกลบ ทั้งนี้ขึ้นกับการกระจายวัคซีนให้ประชาชนในวงกว้างทำได้รวดเร็วเพียงใด   แม้ภาคอสังหาฯ ในปี 2564 จะต้องเผชิญปัจจัยลบหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น กำลังซื้อภายในประเทศที่ยังอ่อนตัวตามภาวะเศรษฐกิจ  ระดับหนี้ครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้น   ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์    

อย่างไรก็ดีภาคอสังหาฯ มีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐที่ได้มีการต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทออกไปจนถึงสิ้นปี 2564   รวมถึงสินค้าแนวราบยังได้รับปัจจัยหนุนจาก New Normal ที่ผู้บริโภคบางส่วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่เคยต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแนวสูง มาซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยได้จริงกว่า   

ทั้งนี้แม้สภาวะตลาดจะไม่เอื้อมากนัก แต่บริษัทยังมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้ต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 7,000 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 6,000 ล้านบาท  

นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) (Mr. Churat Chakarakul, Managing Director, Lalin Plc.) กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในปี 2564 นี้ จะยังคงให้ความสำคัญกับตลาดที่อยู่อาศัยในกลุ่มแนวราบ ที่เป็น Real Demand   โดยมีแผนขยายโครงการใหม่ทั้งในทำเลใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ  ตลอดจนเป็นการเปิดโครงการใหม่เพื่อทดแทนโครงการเดิมของบริษัทที่กำลังจะปิดโครงการลง   

โดยในปี 2564 นี้ มีแผนเปิดโครงการใหม่ทั้งสิ้น 10 – 12 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 6,000 – 7,000 ล้านบาท  โดยตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 7,000 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นราว 7% จากในปี 2563    ทั้งนี้เตรียมที่จะเปิดโครงการบ้านเดี่ยวหรู รูปแบบใหม่ ภายใต้แบรนด์ บ้านลลิล The Prestige ซึ่งเป็นออกแบบในสไตล์ French Colonial  ระดับราคาจะอยู่ในช่วง 5 - 8 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายตลาดให้กว้างขึ้น จากที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ภายใต้แบรนด์ Lanceo ซึ่งจะเน้นกลุ่มลูกค้าในช่วง 3 – 6 ล้านบาท

ในปีนี้ จะเป็นการต่อยอดการใช้กลยุทธ์ Lifestyle Marketing  โดยมุ่งเน้นการใช้สื่อ Digital Marketing เพิ่มมากขึ้น จากที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา  โดยบริษัทมีการยกระดับการจัดการข้อมูลสารสนเทศสู่ Digital Company อย่างเต็มรูปแบบ  มีการนำ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์หา Customer Insights เพื่อเข้าถึง และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ในปีนี้ทางบริษัทจะมีการต่อยอดมาตรฐาน Lalin’s Quality of Living  มีการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation “Lalin, IL”) ภายในบ้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของการอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็น ระบบ IL – Smart & Security,  IL – Ecosystem, และ IL – Lively & Healthy เป็นต้น  

ลลิล รายได้ - กำไรโต ลุยเปิดใหม่ 10 - 12โครงการ  เป้าขาย 7 พันล.

ทั้งนี้ ได้ตั้งงบด้านการตลาดในปีนี้ไว้ที่ประมาณ 3% – 4% ในส่วนของทางด้านการเงิน บริษัทฯ มีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินอย่างมาก โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ที่ลดลงจาก 0.75 เท่า ณ สิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ระดับเพียง 0.67 เท่า ณ สิ้นปี 2563  ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ราว 1.4 – 1.5 เท่า อย่างมาก     และมีเงินสดสำรองเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจอีกราว 1,000 ล้านบาท ตลอดจนมีวงเงินสนับสนุนทางการเงิน (Committed Line) ที่ยังไม่ได้เบิกใช้ จากธนาคารพาณิชย์พันธมิตรต่างๆ อีกมากกว่า 2,000 ล้านบาท  

ซึ่งสะท้อนความแข็งแกร่งทางด้านการเงินของบริษัท และความสามารถในการขยายธุรกิจได้อีกมาก โดยไม่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง  โดยในปี 2564 นี้บริษัทวางงบซื้อที่ดินไว้ที่ประมาณ 1,000 – 1,200 ล้านบาท  โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และกำไรสะสมของบริษัท ตลอดจนมีการใช้หุ้นกู้ และแหล่งเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงิน  โดยมีการพิจารณาออกในจำนวนและช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้สอดรับกับการขยายธุรกิจ และการเติบโตในระยะยาวของบริษัท

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :