กานดา พร็อพเพอร์ตี้ กางแผนปี 64 ผุด 5 โครงการ

06 ม.ค. 2564 | 14:24 น.

“กานดา พร็อพเพอร์ตี้” กางแผนรุก-รับอสังหาฯปี 64 ผุด 5 โครงการบ้านแนวราบ ตั้งเป้ายอดขายทะลุ 3,200 ล้านบาท พร้อมปรับกลยุทธ์รับมือตลาดแข่งขันสูง

นายหัสกร บุญยัง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยภายใต้แบรนด์ “ไอลีฟ” เปิดเผยแผนการดำเนินการในปี 2564 ว่า บริษัทได้ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ สำหรับช่วงปี 2562-2566  ปีละ 1-3 ทำเล และเปิดโครงการใหม่ปีละ 4-8 โครงการ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัท โดยในปี 2563 ได้ขยายทำเลโดยการเปิดโครงการใหม่เพิ่มที่โซนเทพารักษ์-บางบ่อ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการไอลีฟ พรีม่า เทพารักษ์-บางบ่อ ทั้งในส่วนที่เป็นโครงการทาวน์โฮม “ไอลีฟ ทาวน์” และโครงการบ้านเดี่ยว-บ้านแฝด “ไอลีฟ พาร์ค” 

นอกจากนี้ ยังได้เปิดโครงการใหม่ในทำเลที่บริษัทมีโครงการเปิดอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ โครงการไอลีฟ ไพร์ม วงแหวน-รังสิตคลอง 4 และโครงการไอลีฟ ไพร์ม 2 ถลาง ภูเก็ต

แม้ว่าในปี 2563 เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่โครงการที่เปิดใหม่ถือว่าได้รับการตอบรับที่น่าพอใจ แต่ละโครงการมีอัตราการขายที่ดีกว่าภาพรวมของตลาดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดขายในปี 2563 บริษัทสามารถทำไปได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ 3,000 ล้านบาท และมีรายได้จากการโอน 1,950 ล้านบาท 

“แม้ว่ารายได้จะตกจากเป้าที่ตั้งไว้ 2,000 ล้านบาทไปเล็กน้อย เนื่องจากมีการชะลอการเปิดโครงการใหม่ในช่วงที่ไวรัสระบาดรุนแรง และอัตราการปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารที่สูงขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ และยังคงเป็นไปตามแผนที่ต้องการให้บริษัทเติบโตได้อย่างมั่นคง และมีสถานะการเงินแข็งแรง” นายหัสกรกล่าว

สำหรับทิศทางในปี 2564 ภาพรวมของเศรษฐกิจไม่น่าจะแย่กว่าปี 2563 แม้เปิดศักราชใหม่มา จะมีการ Lock Down ในบางจังหวัดหรือบางพื้นที่ เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 แต่เชื่อว่าประสบการณ์การ Lock Down ในช่วงปี 2563 จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แต่ละบริษัทในการบริหารจัดการ ประคับประครองสถานะการเงินและบุคลากรของบริษัทได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เศรษฐกิจโดยภาพรวมของปี 2564 น่าจะมีความคล้ายคลึงกับปี 2563 โดยมีการชะลอตัวในครึ่งปีแรก และฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ในส่วนของตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ ความต้องการคงไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่มีกลุ่มที่ต้องการซื้อคอนโดมิเนียมเปลี่ยนมาซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบมากขึ้น และจากการที่มีผู้เล่นในตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบมากขึ้นจะทำให้การแข่งขันในแต่ละทำเลสูงขึ้น แต่ละบริษัทจะมีการจัดแคมเปญ โปรโมชั่นที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด ซึ่งจะทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดที่อยู่อาศัยแนวสูง คาดว่าจะยังคงติดลบอยู่ เพราะยอดขายคอนโดมิเนียมใหม่น้อยลง โดยภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะอยู่ในระดับทรงตัว

ในปี 2564 บริษัทยังคงเน้นการเติบโตอย่างมั่นคง และมีสถานะการเงินที่แข็งแรง โดยได้ชะลอการซื้อที่ดินใหม่ และนำที่ดินที่มีอยู่มาพัฒนาโครงการใหม่ โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 3,300 ล้านบาท และเป้ารายได้อยู่ที่ 2,200 ล้านบาท และมีแผนเปิดโครงการใหม่รวมทั้งสิ้น 5 โครงการ มูลค่ารวม 3,631 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. ไอลีฟ ไพร์ม ประชาอุทิศ 90 เป็นโครงการทาวน์โฮมจำนวน 211 ยูนิต มูลค่าโครงการ 441 ล้านบาท
2. ไอลีฟ ไพร์ม 2 พระราม 2 กม.14 เป็นโครงการบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดจำนวนรวม 228 ยูนิต มูลค่าโครงการ 805 ล้านบาท
3. ไอลีฟ พัทยา-จอมเทียน ซึ่งเป็นการเปิดโครงการบนทำเลใหม่ในปีนี้ของบริษัท เป็นโครงการทาวน์โฮม จำนวนรวม 384 ยูนิต มูลค่าโครงการ 875 ล้านบาท
4. ไอลีฟ ไพร์ม 2 ประชาอุทิศ 90 เป็นโครงการทาวน์โฮม จำนวน 268 ยูนิต มูลค่าโครงการ 541 ล้านบาท
5. ไอลีฟ ไพร์ม 2 วงแหวน-รังสิตคลอง 4 เป็นโครงการทาวน์โฮม จำนวน 460 ยูนิต มูลค่าโครงการ 969 ล้านบาท
 

“เมื่อรวมกับโครงการที่เปิดขายมาแล้วก่อนหน้าในปี 2564 บริษัทจะมีโครงการที่อยู่ระหว่างการขายรวมทั้งสิ้น 17 โครงการ ใน 9 ทำเล มูลค่าโครงการรวมประมาณ 9,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีที่ดินรอการพัฒนาสำหรับโครงการในอนาคตมูลค่ารวม 13,000 ล้านบาท” นายหัสกรกล่าว

ขณะเดียวกัน บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ทั้งในด้านการก่อสร้าง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ เพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้น ในส่วนของการก่อสร้าง ได้เพิ่มจำนวนบ้านสร้างเสร็จพร้อมขายพร้อมโอนให้เพียงพอกับประมาณการยอดขายในช่วงเปิดโครงการ เพื่อที่จะสามารถโอนได้เร็ว เพิ่มกระแสเงินสดให้บริษัทได้เร็วขึ้น และยังเป็นการรองรับพฤติกรรมการซื้อของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการซื้อโดยไม่ต้องผ่อนดาวน์ 

นอกจากนี้ ในการรองรับการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัทได้มีการออกแบบ 8ฟังก์ชั่นการใช้งานภายในบ้าน “8 f(x)” เพิ่มเติม เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยยังคงยึด “4 KANDA CONCEPT”  ได้แก่ ECO SMART/ EASY MAINTENANCE/ 3 GENERATIONS/ FLOOD PROTECTION เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ

“สำหรับปัญหาที่เกิดจากการภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการที่ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ในเชิงรุก โดยการตั้งทีมขึ้นมาทำงานร่วมกับธนาคารต่างๆ อย่างใกล้ชิด  และคอยแก้ปัญหาและให้คำปรึกษากับลูกค้าที่กู้ไม่ผ่าน เพื่อยังคงรักษาลูกค้าไว้กับบริษัทในระยะยาว”

นายหัสกร กล่าวอีกว่า นอกจากการขยายทำเลใหม่ๆ แล้ว อีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับบริษัทคือการขยายกลุ่มลูกค้าเพิ่ม จากเดิมผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะอยู่ในระดับราคา 2 ล้านบาทขึ้นไปเป็นหลัก ขณะนี้บริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายกลุ่มลูกค้าในตลาดที่ราคาต่ำกว่า 1.6 ล้านบาทลงมา ซึ่งเป็นตลาดที่ยังมีความต้องการซื้อสูง แต่ยังติดปัญหาเรื่องของต้นทุนการพัฒนาโครงการในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้น หัวใจหลักคือ ต้นทุนที่ดินต้องถูก ซึ่งจะต้องขยับออกมานอกเมือง แต่ต้องมีแหล่งงานรองรับ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องของการขยายกลุ่มลูกค้าในเร็วๆ