บ้านต่ำ 5 ล้านหดตัวแรง  ‘ซีคอน’บุกออนไลน์ รับโควิด-19

04 ส.ค. 2563 | 07:05 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2563 | 14:09 น.
691

สมาคมรับสร้างบ้าน คาดครึ่งปีแรกปี 63 ตลาด หดตัว 20-30% เหตุโควิด-19 พ่นพิษ ด้านซีคอนเร่งพัฒนาแบบบ้านใหม่เพิ่ม 6 แบบ รุกตลาดออนไลน์ เจาะกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้น หลังยอดขายออนไลน์ครึ่งปีแรกปี 63 โต 200 ล้านบาท เตรียมปักหมุดรับสร้างบ้านพื้นที่ต่างจังหวัดต่อเนื่อง

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า สำหรับทิศทางในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 คาดว่าภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านจะหดตัวไม่น้อยกว่า 20-30% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ทำให้หยุดการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ตามการบังคับใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ สังคม ภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งรวมถึงธุรกิจรับสร้างบ้านโดยตลาดที่หดตัวนั้นเกิดขึ้นในทุกช่วง ของระดับราคาบ้าน ดังนี้ กลุ่มตลาดระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท หดตัว 30% กลุ่มตลาดระดับราคาตั้งแต่ 5-10 ล้านบาท หดตัว 20% กลุ่มตลาดระดับราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป หดตัว10% โดยสาเหตุที่ตลาดระดับกลางและระดับล่าง มีระดับราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท หดตัวมากสุด เพราะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ปลูกสร้างบ้านในระดับราคาดังกล่าวที่พึ่งเงินกู้จากธนาคาร เมื่อเกิดภาวะความเสี่ยงต่างๆขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ความมั่นคงในอาชีพ ทำให้ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดและระมัด ระวังในการปล่อยกู้มากขึ้น ต่างกับกลุ่มผู้บริโภคที่ปลูกสร้างบ้านราคาแพง ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ค่อนข้างจะมีฐานะดีในระดับหนึ่งจึงมีปัญหาในการขอสินเชื่อจากธนาคารค่อนข้างน้อย

ทั้งนี้คาดว่าตลาดรับสร้างบ้านน่าจะค่อยๆ ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ตามการคาดการณ์การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการภาครัฐและการคลายล็อกดาวน์บางส่วนจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม หากมีการระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด-19 กลับมาใหม่ อาจทำให้เศรษฐกิจโดยรวมหดตัวเพิ่มได้ โดยจากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะปรับตัวลดลงในช่วง 5-6%

“ช่วงต้นปี 2563 เราค่อนข้างมองในแง่บวกว่าอย่างน้อยตลาดน่าจะเติบโตได้มีมูลค่า 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท โดยอ้างอิงจากยอดขายของสมาชิกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา แต่พอเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ามา จะมีผลกระทบเป็นวงกว้างมาก คาดทั้งปี 2563 ตลาดรับสร้างบ้านน่าจะหดตัว แต่จะมากแค่ไหนตอนนี้ยังตอบชัดเจนไม่ได้”

นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทางสมาคมฯ มองว่าผู้บริโภคยังต้องการที่จะปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน ซึ่งจะทำให้ตลาดรับสร้างบ้านจะค่อยๆ ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 พบว่า จากข้อมูลที่สะท้อนผ่านการเข้าเยี่ยมชมงานรับสร้างบ้านออนไลน์ 2020 ระหว่างวันที่ 20-31 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็น Online Exhibition ครั้งแรก (เดิมคืองานรับสร้างบ้าน Focus 2020) ของสมาคมฯ ที่จัดขึ้นและได้รับการตอบรับที่ดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ค่อนข้างรุนแรงในช่วงนั้น โดยตลอด 12 วันของการจัดงานรับสร้างบ้านออนไลน์ มีผู้จองสร้างบ้านผ่านทางช่องทางออนไลน์ของการจัดงานในครั้งนี้เป็นมูลค่า 125 ล้านบาท และมีผู้ที่สนใจจะสร้างบ้านอีก ยอดมูลค่า การก่อสร้างรวม 600 ล้านบาท จากผู้บริโภคที่สนใจสร้างจริง 100 ราย โดยผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านที่ร่วมกิจกรรมการจัดงานรับสร้างบ้านออนไลน์ในครั้งนี้ จำนวน 14 บริษัท (ตามปกติงานรับสร้างบ้าน Focus จะมีสมาชิกร่วมกว่า 30-40 ราย) และการเข้าเยี่ยมชมงานรับสร้างบ้านออนไลน์ ผลตอบรับที่เกิดขึ้นมีมากกว่า 575,000 ครั้งจากยอดขายงานรับสร้างบ้านออนไลน์ตลอด 12 วันของการจัดงาน แบ่งตามระดับราคาบ้านที่ปลูกสร้าง ดังนี้ บ้านระดับราคาไม่เกิน 2.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46.67% บ้านระดับราคาไม่เกิน 2.51-5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.33% บ้านระดับราคาไม่เกิน 5.01-10 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.33% บ้านระดับราคาไม่เกิน 10.01-20 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20.00% บ้านระดับราคา 20.01 ล้านบาท ขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 6.67%

มนู ตระกูลวัฒนะกิจ

นายมนู ตระกูลวัฒนะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด กล่าวว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สำหรับซีคอนปรับตัวให้ทันสมัยและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียมากยิ่งขึ้น รวมถึงทำการพัฒนาแบบบ้านใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเรามีแบบบ้านให้เลือกมากกว่า 200 แบบ มีราคาการก่อสร้างเริ่มต้นที่ 2-35 ล้านบาท ซึ่งเราพยายามออกแบบบ้านและจัดหมวดหมู่ของแบบบ้านให้ตอบโจทย์ในทุกความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย 

และหลังจากมีการประกาศมาตรการคลายล็อกดาวน์ ซีคอน ก็จะเดินหน้าจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในรูปแบบต่างๆ เพิ่มเติม โดยเริ่มต้นจากการจัดโรดโชว์ตามห้างสรรพสินค้า แต่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานให้สอดรับกับ New Normal คือ ปรับรูปแบบบูธให้มีทางเข้า-ออกแบบทางเดียว จัดวางโต๊ะให้มีระยะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร มี Table Shield และทำการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายให้ลูกค้าก่อนเข้าพื้นที่บูธ รวมถึงการลงทะเบียน จัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้บริการ และให้พนักงานขายทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยและ Face Shield ตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่บูธกิจกรรม รวมถึงภายในพื้นที่ศูนย์รับสร้างบ้านทั้ง 5 ศูนย์ ได้มีรูปแบบการปฏิบัติเช่นเดียวกัน เพิ่มเติมด้วยการเช็กจุดสัมผัสต่างๆ ทุกชั่วโมง และพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นประจำ เพื่อให้ลูกค้าที่มารับบริการสามารถมั่นใจในความสะอาด ปลอดภัย และอุ่นใจเสมือนอยู่บ้าน

สำหรับผลประกอบการของซีคอน ตั้งเป้ายอดขายโต 1,400 ล้านบาท ในครึ่งปีแรกของปี 2563 ยอดขายโต กว่า 500 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,597 วันที่ 2 - 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563