กลุ่มซีพี เดินหน้ารถไฟไฮสปีด ผนึกวิศวะมหิดล วิจัยแผนพัฒนาระบบ

19 พ.ค. 2563 | 14:22 น.
2.6 k

กลุ่มซีพี ไม่รอวิกฤติโควิด-19 สงบ เดินหน้าเมกะโปรเจ๊กต์รถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน จับมือวิศวะมหิดล วิจัยแผนงานพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงและการจ้างงานบัณฑิต

กลุ่มบริษัทซีพี เดินหน้าเมกะโปรเจ๊กต์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยนายลีโอ มัก เส็คแมน (Leo Mak Sek Man) ผู้จัดการโครงการ และ ดร. อนพัทย์ มโนวชิรสรรค์ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด เดินทางเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทั้งหารือถึงแผนพัฒนา 3 ขั้นตอนในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในอนาคต ความร่วมมือในการวิจัยพัฒนาในภาครถไฟและการจ้างงานบัณฑิต 

กลุ่มซีพี เดินหน้ารถไฟไฮสปีด ผนึกวิศวะมหิดล วิจัยแผนพัฒนาระบบ

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า กลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำเสนอผลงานวิจัยพัฒนาด้านระบบขนส่งทางรางที่ผ่านมา ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศในหลายโครงการ ในโอกาสนี้ผู้บริหารกลุ่ม บริษัท ซีพี ได้หารือความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 

ซึ่งมีแผนงานพัฒนา 3 ขั้นตอน ได้แก่ ระยะที่ 1 จะเป็นการปรับปรุงรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการและบำรุงรักษาภายในเดือนตุลาคม 2564 ระยะที่ 2 จะเป็นก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา จังหวัดระยอง ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC และในระยะที่ 3 จะเป็นการต่อขยายทางรถไฟ เพื่อเชื่อมกับท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพฯ

ผศ.ดร.วเรศรา วีระวัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มบริษัทซีพี ได้แสดงความสนใจต่อหลักสูตรวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางระดับบัณฑิตศึกษา(ปริญญาโท) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในแนวทางการสนับสนุนงานวิจัยด้านระบบรางและการรับบัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์เข้าทำงาน นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับอนาคตของการพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรคนไทยในอุตสาหกรรมขนส่งระบบรางและการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3  สนามบิน ซึ่งจะสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสใหม่ๆทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทย

ในด้านการพัฒนากำลังคนป้อนสู่ระบบขนส่งทางรางในประเทศไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาระบบขนส่งทางราง (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหลักสูตรระยะ 2 ปี จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษโดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในแต่ละแขนง และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ หลักสูตรฯ มุ่งเน้นทักษะความเชี่ยวชาญในการวางแผน การดำเนินงาน และการบริหารจัดการ พร้อมทั้งรายวิชาระบบรางที่สร้างเสริมศักยภาพและองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบขนส่งทางรางด้านต่างๆ ได้แก่ วิศวกรรมขนส่ง วิศวกรรมอุตสาหการและวัสดุ