ชลประทาน คุมเข้มการใช้น้ำ เน้นสำรองไว้อุปโภคบริโภคให้เพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า

19 ก.พ. 2567 | 18:40 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.พ. 2567 | 18:46 น.

ชลประทาน ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ คุมเข้มการใช้น้ำ เน้นสำรองไว้อุปโภคบริโภคให้เพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า

วันนี้ (19 ก.พ. 67) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศร์  สมบูรณ์  ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป 

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (19 ก.พ. 67) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 52,371 ล้าน ลบ.ม. (69% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 28,430 ล้าน ลบ.ม. (54% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 14,640 ล้าน ลบ.ม. (59% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 7,944 ล้าน ลบ.ม. (44% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)  จนถึงขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้วกว่า 13,818 ล้าน ลบ.ม. (55% ของแผนฯ) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 4,987 ล้าน ลบ.ม. (57% ของแผนฯ)   


 

ด้านสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 8.41 ล้านไร่ หรือร้อยละ 145 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 5.64 ล้านไร่ หรือร้อยละ 186 ของแผนฯ   สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ แต่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากยังคงมีน้ำทะเลหนุนในบางช่วง 

ทั้งนี้ การเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลง  เนื่องจากเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปรังรอบแรก  เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว  จึงให้โครงการชลประทานในพื้นที่ปรับลดการรับน้ำเข้าพื้นที่  พร้อมรณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ทำนาปรังรอบ 2 และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า