EXIM BANK นำโมเดล Green Development และคลินิก EXIM เพื่อคนตัวเล็กสัญจร จ.น่าน

13 ธ.ค. 2566 | 17:10 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2566 | 17:16 น.

EXIM BANK นำโมเดล Green Development และคลินิก EXIM เพื่อคนตัวเล็กสัญจร จ.น่าน แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน สร้างชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน

ปัญหาหนี้ครัวเรือน กำลังเป็นภัยเงียบที่เป็นปัญหาใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ บั่นทอนศักยภาพการเติบโตและนำไปสู่ปัญหาสังคม คนไทย 1 ใน 3 (กว่า 22 ล้านคน) มีสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นับจากปี 2560-2565 โดยสัดส่วนหนี้ต่อครัวเรือนของคนไทยสูงกว่าประเทศในตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเดียวกัน ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินเดีย ข้อมูลของ Trading Economics ระบุว่า หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยติดอันดับ 7 ของโลก ธนาคารพาณิชย์เอกชน ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนด้วยการกำหนดมาตรการการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรมและพยายามหาแนวทางช่วยลดปัญหาหนี้เรื้อรังในภาคครัวเรือน

 

EXIM BANK นำโมเดล Green Development และคลินิก EXIM เพื่อคนตัวเล็กสัญจร จ.น่าน

 

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หนึ่งในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังได้ตระหนักถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้สินในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีอัตราการเร่งตัวสูงนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน บั่นทอนให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพและทำให้ SMEs ขาดเงินทุนหมุนเวียน จึงได้เริ่มนโยบาย “EXIM เพื่อการเงินในชุมชน” ขึ้น เพื่อให้ความรู้และคำปรึกษาด้านการเงินและแนะนำการทำบัญชีครัวเรือนให้ชุมชน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ให้ได้รับความรู้ความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจเพื่อการส่งออกและนำเข้า แนวคิดด้านการสืบสานธุรกิจให้เดินต่อไปได้ เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้โมเดลธุรกิจระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ ๆ ที่ต่อยอดจากแต้มต่อทางธุรกิจเดิมที่มีเพื่อสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ EXIM BANK ยังริเริ่มโครงการ “คลินิก EXIM เพื่อคนตัวเล็ก” ตรวจสุขภาพทางการเงิน ให้คำปรึกษาทางธุรกิจอย่างครบวงจร อาทิ การปรับแผนธุรกิจ การบริหารจัดการทางการเงิน และการให้คำปรึกษาด้านการปรับโครงสร้างหนี้ แก้ไขหนี้เสีย และเติมเงินทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางให้สามารถชำระหนี้ต่อไปได้ตามความสามารถและเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูธุรกิจให้สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกได้

 

EXIM BANK นำโมเดล Green Development และคลินิก EXIM เพื่อคนตัวเล็กสัญจร จ.น่าน

 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ทั้ง 2 โครงการเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็น CSR ในกระบวนการทำงาน (CSR in process) และนอกกระบวนการปฏิบัติงาน (CSR after process) ซึ่งธนาคารได้ดำเนินการต่อเนื่อง เริ่มต้นจากชุมชนกลุ่มเปราะบางในเขตพญาไทและขยายผลสู่สังคมมากยิ่งขึ้น โดยความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ดำเนินโครงการสัญจรไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในปี 2566 EXIM BANK ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ชุมชนห้วยน้ำเพี้ย บ.เชตวัน ต.สันทะ อ.นาน้อย จ.น่าน ทำโครงการ “ชุมชนเข้มแข็ง ความเป็นอยู่ยั่งยืน” ให้ความรู้เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนกับชาวบ้าน ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจและสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ได้ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องหนี้ครัวเรือนกับชาวบ้าน ต.สันทะ จำนวนกว่า 50 คน โดยแนะนำว่า ครัวเรือนไม่ควรมีหนี้เกิน 70% ของรายได้ทั้งหมด เช่น หากมีรายได้เดือนละ 10,000 บาท ไม่ควรมีหนี้เกิน 7,000 บาท

 

EXIM BANK นำโมเดล Green Development และคลินิก EXIM เพื่อคนตัวเล็กสัญจร จ.น่าน

 

“ตัวอย่างคือ ถ้าหากมีรายได้เดือนละ 10,000 บาท แต่มีหนี้ 100,000 บาท ต้องจ่ายเดือนละ 15,000 บาท จึงจะชำระหนี้หมดภายใน 10 ปี ปัจจุบันเกษตรกรไทย 60% มีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 500,000 บาท หากทิ้งหนี้จำนวนนี้ไว้ 5 ปี ไม่ชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หนี้จะพุ่งสูงขึ้นเป็น 1,200,000 บาท ในขณะที่ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 6,000 บาท แต่หนี้จำนวน 500,000 บาท หากจะให้ชำระหมดใน 5 ปีจะต้องใช้เงินต้นและดอกเบี้ยเดือนละ 20,000 บาท จึงจะใช้ได้หมดตามกำหนดเวลา รายได้เดือนละ 6,000 บาท แต่ต้องจ่ายหนี้เดือนละ 20,000 บาท มันเป็นไปได้ยาก” ดร.รักษ์ กล่าว

ดร.รักษ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนจะต้องเริ่มจากการปลูกต้นออม หากมีรายได้ 100 บาท ควรแบ่งเงินเป็นสัดส่วนโดย 50% คือ รายจ่ายที่จำเป็นสำหรับชีวิต 30% คือ รายจ่ายเพื่อความสุขของตัวเอง อีก 20% คือ การออม หากเรามุ่งมั่นที่จะสร้างเงินออม จะต้องลดสัดส่วนการใช้ความสุขส่วนตัว นำเงินส่วนนี้ไปออมเพิ่ม และหากจำเป็นต้องเป็นหนี้ ควรจะกู้เพื่อซื้อเครื่องมือทำกิน เช่น เครื่องยนต์การเกษตร รถยนต์ที่จะใช้บรรทุกผลผลิตไปขาย

 

EXIM BANK นำโมเดล Green Development และคลินิก EXIM เพื่อคนตัวเล็กสัญจร จ.น่าน

 

นอกจากนี้ จะต้องสร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มใน จ.น่าน เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดและยางพารา ซึ่งพืช 2 ชนิดมีราคาขึ้นลงตามการรับซื้อของพ่อค้า ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตและชำระหนี้ ต้องเพิ่มการปลูกพืชหรือทำอย่างอื่นที่สร้างรายได้มากกว่าเดิม จึงจะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ขณะนี้มีเกษตรกรรวมตัวกันเลี้ยงผึ้งป่าและปลูกกะหล่ำปลี ก็ต้องพัฒนาพืชผักให้ปลอดสารพิษ เพื่อทำให้ขายได้ราคาดีกว่า

นางบุษบา แก้วเดช ชาวบ้าน ต.สันทะ อายุ 47 ปี กล่าวว่า ความรู้เรื่องหนี้ที่ EXIM BANK แนะนำเป็นความรู้ที่เข้าใจไม่ยากและสามารถนำมาปฏิบัติได้ จากเดิมที่ไม่เคยมีหลักคิดว่าจะแก้ไขหนี้อย่างไร ทั้งนี้ชาวบ้านมีทางเลือกน้อย ทำได้แค่ปลูกข้าวโพด ยางพารา และกะหล่ำปลี ไม่มีรายได้ทางอื่น

นายสุรพล แสนย่าง อายุ 42 ปี ทำอาชีพปลูกข้าวโพดและกะหล่ำปลี เปิดเผยว่า มีหนี้ 300,000 บาท มีรายได้จากการปลูกพืชเดือนละ 6,000 บาท มีรายได้ตามราคาผลผลิต ซึ่งขึ้นอยู่กับน้ำ หลักการแก้ไขหนี้ฟังเข้าใจและไม่ยากเกินไป ที่ผ่านมาคำนวณไม่เป็นและไม่รู้ว่าควรจะกำหนดสัดส่วนรายรับรายจ่ายอย่างไร

โครงการ “คลินิก EXIM เพื่อคนตัวเล็กสัญจร จ.น่าน” ได้ให้คำปรึกษากับ น.ส. เบญญาภา ขัติยะ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งป่า ที่ขอคำปรึกษาเพื่อยกระดับสินค้าน้ำผึ้งป่าให้เป็นสินค้าส่งออกและ น.ส. แสงจันทร์ อำนวยผล เจ้าของฟาร์มรักษ์หอยเชอรี่สีทองใน ต.สันทะ ที่อยากขยายตลาดหอยเชอรี่สีทองให้มีแหล่งจำหน่ายได้มากขึ้น

 

EXIM BANK นำโมเดล Green Development และคลินิก EXIM เพื่อคนตัวเล็กสัญจร จ.น่าน

 

ดร.รักษ์ กล่าวว่า การช่วยเหลือให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมเป็นการต่อยอดสร้างรายได้ให้มีความสามารถชำระหนี้ได้มากขึ้นแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ระดับหนึ่ง ซึ่ง EXIM BANK จะสานพลังกับพันธมิตรอย่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ช่วยพัฒนาน้ำผึ้งป่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและมีคุณสมบัติทางโภชนาการและคุณสมบัติทางยา ส่วนหอยเชอรี่สีทองต้องพัฒนาโดยแปรรูปสินค้า นอกเหนือจากการบริโภคสด

“EXIM BANK มีลูกค้าเป็นผู้ผลิตน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งครบวงจรอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ธนาคารจะติดต่อให้กลุ่มเกษตรกร จ.น่าน ขึ้นไปเรียนรู้เทคโนโลยีการเลี้ยงผึ้งและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้งเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอด เรียนรู้ ฝึกฝนดำเนินการอีกหลายขั้นตอน เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ส่งออกได้ สำหรับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ EXIM BANK มีความร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อยู่แล้วในการช่วยออกแบบให้ทันสมัยและดึงดูดใจลูกค้า หากยังส่งออกไม่ได้ อาจจะยกระดับเป็นสินค้าโอทอปส่งขายในตลาดที่กว้างขึ้นไปก่อน” ดร.รักษ์ กล่าว

ในการแก้ไขปัญหาหนี้และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนแก่ชุมชน EXIM BANK ได้สานพลังกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การบริหารส่วนตำบลสันทะ (อบต.สันทะ) ร่วมกิจกรรม “ค่ายวิศวพัฒน์” ลงพื้นที่สร้างแหล่งน้ำ ฝายกักน้ำ ฝายดักตะกอน ฝายน้ำบริโภค ให้กับชาวบ้านในพื้นที่สูง เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านชุมชนห้วยน้ำเพี้ย ให้ปลูกไม้ผลยืนต้นที่มีผลผลิตขายได้ราคาดี ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการบุกรุกพื้นที่ป่าและการเผาตอซังจากการทำไร่ข้าวโพด

ดร.รักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK ได้สนับสนุนแผงโซลาร์เซลล์เพื่อนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับเครื่องสูบน้ำเพื่อผันน้ำขึ้นสู่ที่สูง ส่งผลให้พื้นที่มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะการผันน้ำขึ้นไปกักเก็บเป็นบ่อและขยายการใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำด้วยการเลี้ยงปลาเพื่อบริโภค และต่อยอดเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในอนาคต รวมทั้งใช้โซลาร์เซลล์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในศูนย์การเรียนรู้บ้านดิน เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการสร้างที่อยู่อาศัยและใช้พลังงานสะอาดเพื่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนแผงโซลาร์เซลล์จากลูกค้าธนาคาร ได้แก่ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สนับสนุน Solar Panels ขนาด 240 W จำนวน 42 แผ่น รวม 10 kW & Inverter ขนาด 5 kW จำนวน 2 เครื่อง และบริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สนับสนุน Solar Panels จำนวน 20 แผ่น รวม 6.5 kW

“ชุมชนห้วยน้ำเพี้ยเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งหนักเป็นเวลานาน ทำให้พื้นดินปลูกพืชไร่ได้เพียงปีละครั้ง ผลผลิตขายได้ราคาต่ำ ดินเสียจากการใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง และเผาตอซังข้าวโพดเป็นเวลานาน เกิดปัญหาเกษตรกรบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเคลื่อนย้ายพื้นที่ปลูกพืชไร่ การนำโมเดล Green Development ไปใช้สร้างความกินดีอยู่ดีให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น โดยสอดคล้องกับบทบาท Green Development Bank ช่วยให้ชุมชนมีทั้งไฟฟ้าและน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้ตลอดปี แก้ปัญหาภัยแล้ง ลดการบุกรุกพื้นที่ป่า ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากดินเสียและมลพิษ สร้างโอกาสให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างเป็นบูรณาการและยั่งยืน เนื่องจากเกษตรกรสามารถปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผลอื่น ๆ เช่น ทุเรียน โกโก้ อะโวคาโด อินทผลัม เพื่อการบริโภคและสร้างรายได้ครัวเรือนได้มากขึ้น และผลผลิตมีมูลค่าสูงกว่าพืชไร่” กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าว

รศ.ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้จัดกิจกรรมค่ายวิศวพัฒน์ตั้งแต่ปี 2561 โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น มูลนิธิโครงการหลวง กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และในปีนี้ได้ EXIM BANK ร่วมเป็นพันธมิตรในการจัดหาโซลาร์เซลล์และจะร่วมมือกันอีกในระยะถัดไปเพื่อช่วยกันสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

“นับเป็นโครงการที่สร้างชุมชนเข้มแข็งและความเป็นอยู่ยั่งยืนที่แท้จริง โดยเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเป็นพืชอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่าไปได้ 100 ไร่แล้วและหวังว่าโครงการร่วมมือลักษณะนี้จะช่วยลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่ทำลายดิน สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งชาวชุมชนห้วยน้ำเพี้ยอยากจะพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอนาคต ค่ายวิศวพัฒน์สร้างบ้านดินเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่และจะสร้างเพิ่มขึ้นให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้อีกในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมให้ “คนคืนถิ่น” ทำให้กลุ่มเปราะบาง เช่น สตรีที่เคยออกไปทำมาหากินต่างถิ่นกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอาชีพเกี่ยวเนื่อง เช่น เลี้ยงผึ้งเพื่อเก็บน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผึ้ง ฟาร์มหอยเชอรี่สีทอง ระหว่างรอไม้ผลให้ผลผลิต” รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว