“กรมวิชาการเกษตร” เดินหน้าทำทันที รับลูกสนองนโยบาย “ธรรมนัส”

26 ก.ย. 2566 | 09:16 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2566 | 09:21 น.

กรมวิชาการเกษตร” ชูแนวคิด “ตลาดนำการวิจัย มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ให้กับผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ กรมวิชาการเกษตร ทั่วประเทศ

ตามที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายและเปิดงาน “งานแถลงผลงานกรมวิชาการเกษตร 2566 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี กรมวิชาการเกษตร” ชูแนวคิด “ตลาดนำการวิจัย มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ให้กับผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ กรมวิชาการเกษตร ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ได้มอบนโยบาย ผ่านหัวข้อ “100 วันแห่งความสำเร็จ กรมวิชาการเกษตรกรรวมใจเป็นหนึ่ง” ระบุว่า ต้องขอขอบคุณทุกคน ที่ได้เห็นความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน สาเหตุที่ได้จัดงานขึ้นในครั้งนี้เป็นการแสดงถึงพลังของบุคลากรในกรมวิชาการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสครบรอบ 50 ปี และจะเข้าสู่ปีที่ 51 ได้ทำให้รัฐบาลปัจจุบันและท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เห็นความสำคัญภารกิจของพวกเราอย่างชัดเจน รวมทั้งท่านเองก็ได้มากำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรด้วย จึงนับว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีอย่างยิ่ง
 

“จากภารกิจกรมวิชาการเกษตร ได้นำมาถอดรหัส แผนปฏิบัติการสนองนโยบาย 100 วัน ทำได้ทันที เริ่มต้นนับจากวันนี้ไปสู่วิธีการปฏิบัติในการเตรียมความพร้อมในเรื่องของงานวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรในการผลักดันสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เป็นการต่อสู้แมลงศัตรูพืช เพื่อนำไปสู่วิธีการปฏิบัติในการจัดการทรัพยากรการเกษตร ซึ่งความจริงเป็นนโยบายที่กรมวิชาการเกษตร โดยเฉพาะในยุคของผม และพวกเราทุ่มเท และตั้งใจที่จะผลักดันอย่างเต็มที่ มีไทม์ไลน์แผปฏิบัติการที่ชัดเจน”

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากการถอดรหัสนโยบายของรัฐมนตรีมาขับเคลื่อนภายใต้แผนการดำเนินการ ปีงบประมาณ 2567 โดยมีตัวชี้วัด อาทิ การนำผลงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติ การรับมือภัยธรรมชาติ และการวิจัยสายพันธุ์พืชต่างๆ เพื่อที่จะสามารถรับรองกับความต้องการตลาดนำการวิจัย การประกาศสงครามกับสินค้าเถื่อน การปราบปรามลักลอบนำเข้าของผิดกฎหมายต่างๆ  รวมถึงการยกระดับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ ดังนั้นฝากให้กับ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวพ.) จังหวัดต่างๆ รวมถึงนักวิจัย ที่จะต้องเก็บรักษาพันธุกรรมไว้ หรือทำงานวิจัยต่อเนื่อง ควบคู่การยกระดับรายได้ด้วย 

ทั้งนี้ได้นำโมเดลต้นแบบ โครงการ 1 ไร่ 3 แสนบาท ในโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใช้เทคโนโลยีการปลูกลิ้นจี่ ปลูกผสมผสาน และเลี้ยงผึ้งโพรง  สร้างรายได้ ให้ เกษตรกรยั่งยืน ทำให้รายได้มากกว่า 3 แสนบาท แล้วหากในอนาคตทำโครงการ 1 ไร่ 5 แสนบาท หรือถ้าเป็น “ทุเรียน” พืชที่มีมูลค่าสูง อาจจะเป็น 1 ไร่ 1 ล้านบาท เป็นต้น ดังนั้นก็อยากเห็นนักวิชาการเกษตร ร่วมกันคิด ช่วยกันทำเป็นโมเดล และขยายผลได้เร็วเพราะมีต้นแบบจริงจากกลุ่มพื้นที่ในแต่ละจังหวัด ที่สำคัญหากใครมีความสามารถจะตั้งเป็น “มิสเตอร์” หรือ “มิสเกษตร” ในพืชนั้นๆ โดยทุกนโยบายให้ขับเคลื่อน DOA Together รวมให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้เกิดพลังในการพัฒนาตามนโยบายรัฐมนตรี 100 วัน ต้องเห็นผลเป็นรูปธรรม