ดร.ศิริลักษณ์ จิตรอักษร ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูการผลิตเมล็ดพันธุ์ของประเทศ เปิดเผยว่า กองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช เป็นหน่วยงานในการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรให้ได้ใช้เมล็ดพันธุ์พืชที่มีคุณภาพดี โดยจะทำหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบการในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อจำหน่ายให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518
ทั้งนี้ขั้นตอนกระบวนการที่สำคัญ จะมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ของผู้ประกอบการ เมื่อผลิตได้แล้วจะต้องส่งเมล็ดพันธุ์มาตรวจสอบด้านคุณภาพเมล็ดพันธุ์และสุขอนามัยในเมล็ดพันธุ์พืช ได้แก่ การปลอดจากศัตรูพืชเพื่อให้การรับรองก่อนจำหน่ายแก่เกษตรกร ขณะเดียวกันกรมวิชาการเกษตรจะมีการสำรองเมล็ดพันธุ์พืชเอาไว้เพื่อสนับสนุนแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรในกรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน ส่วนในเวลาปกติกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชยังมีการจัดฝึกอบรมด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์แก่เกษตรกร และการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ได้ด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ยังให้การสนับสนุนการส่งออกเมล็ดพันธุ์ของไทยเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ซึ่งในการส่งออกผู้ประกอบการจะต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ตามมาตรฐานคุณภาพเมล็ดพันธุ์ควบคุม ตรวจสอบการปลอดจากศัตรูพืชตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าปลายทาง ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์(e-Phyto)ช่วยลดงานซ้ำซ้อนขั้นตอนการปฏิบัติงาน อีกทั้งตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ตั้งแต่ปลายทางจนถึงถึงเกษตรกร
ขณะเดียวกันในการส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชไปยังประเทศต่าง ๆ ยังมีกฎระเบียบเฉพาะตัว และบางประเทศระบุเมล็ดพันธุ์ที่ส่งไปจะต้องได้รับมาตรฐานที่สมาคมทดสอบเมล็ดพันธุ์นานาชาติ (ISTA) กำหนด
ในแต่ละปีไทยสามารถส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชควบคุมไปยัง 105 ประเทศทั่วโลก มูลค่าปีละมากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยในปี 2565 มีมูลค่าการส่งออก 11,753 ล้านบาท และในช่วงสองไตรมาสแรกของปี 2566 ส่งออกแล้ว 5,673 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน และอื่น ๆ