3BB – JAS – JASIF ชี้ ข้อเสนอใหม่ คือทางรอดเดียว ขอผู้ถือหน่วยอนุมัติ

20 ส.ค. 2566 | 13:49 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2566 | 13:53 น.

ปัญหาคาราคาซังระหว่าง JAS – 3BB – JASIF ที่ยืดเยื้อมานาน มาถึงจุดที่อาจจะไปต่อไม่ได้และอาจจะกระทบกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย

เริ่มตั้งแต่การที่ JAS ชำระค่าเช่าแก่กองทุน JASIF ล่าช้า จนกระทั่งชำระไม่ครบตามสัญญา และ ณ ตอนนี้กำลังเดินหน้าเข้าสู่การขอแก้ไขสัญญาค่าเช่า จากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนของ JASIF ในวันที่ 23 สิงหาคม 2566 นี้ โดยล่าสุด 3BB JAS และ JASIF ได้มีการเดินสายพบปะนักลงทุน เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นดังกล่าว

“ย้อนไปตั้งแต่ปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้าน กำลังซื้อของคนไทยที่ลดลงจากภาวะโควิด 19 และสงครามยูเครน รัสเซีย ซึ่งซ้ำเติมให้เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้หลังจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนฯ เพื่อนำเงินไปขยายโครงข่ายใยแก้วนำแสงของตนเอง ทำให้ JAS และ 3BB ต้องแบกรับค่าเช่าที่สูงและไม่สามารถแข่งขันกับผู้เล่นอินเทอร์เน็ตบ้านรายอื่น ก่อให้เกิดปัญหากระแสเงินสดขาดมือตามมา เพราะรายได้ที่เข้ามาไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบกับทุกฝ่ายอย่างที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น”

นั่นคือสิ่งที่ นายสุพจน์ สัญญพิสิทธิ์กุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS กล่าวในการเดินสายพบปะนักลงทุน (Roadshow) ในกรณีการขอแก้ไขสัญญาค่าเช่าฯ กับ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตจัสมิน หรือ JASIF
            
ในขณะที่ นายโสรัชย์ อัศวะประภา ประธานกรรมการ บมจ. จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หนึ่งในผู้เข้าร่วมการเดินสายครั้งนี้ กล่าวเสริมว่า “เราพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ทั้งการบริหารจัดการกระแสเงินสดให้เพียงพอ โดยเฉพาะการจ่ายในส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ ค่าใบอนุญาตกับทาง กสทช. ที่ค้างจ่ายมาตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2566 ถ้าหากไม่สามารถชำระได้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายอาจถึงขั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งทำให้ 3BB ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ และจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกับ JASIF ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของเรา”

ทางด้าน นายพรชลิต พลอยกระจ่าง รองกรรมการผู้จัดการฯ บลจ.บัวหลวง ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) อธิบายเพิ่มเติมว่า “ในฐานะผู้บริหารกองทุน การสร้างผลตอบแทนที่แน่นอนเป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ ถ้าหาก 3BB ซึ่งเป็นผู้เช่าหลักเกิดปัญหาร้ายแรง เช่นถูกเพิกถอนใบอนุญาต JASIF จะกลายเป็นว่าไม่มีรายได้เลย แต่การปรับแก้สัญญาแม้ว่ารายได้จะหายไปราวๆ 20% แต่ถ้าหากเราสามารถสร้างความมั่นคงให้กับกระแสเงินสด 80% ที่เหลือและยืดอายุไปยาวขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะการต่ออายุของสัญญาเดิม โดยเงื่อนไขที่ 3BB ต้องมีรายได้ 40,000 ล้านบาทขึ้นไป ถือว่าเป็นไปได้น้อยมากๆ”

“นอกจากนั้นแม้ว่าในช่วงแรกๆ กระแสเงินสดจะหายไปบางส่วน แต่ถ้าหากพิจารณาตัวสัญญาที่ยาวขึ้น ทำให้กระแสเงินสดรับรวม (Total Cashflow) ของกองทุนสูงขึ้นประมาณ 32,000 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงจำนวนเงินปันผลที่ผู้ถือหน่วยจะได้รับเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับการขอแก้ไขสัญญาค่าเช่าฯ ครั้งก่อนที่ AWN ในฐานะผู้ซื้อเสนอ ครั้งนี้จะสูงกว่าถึง 5,000-6,000 ล้านบาท”
            
นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยกันว่าทำไมถึงต้องมีการปรับแก้ไขสัญญาเพื่อให้ผู้ถือหน่วยตัดสินใจในครั้งนี้ เพราะท้ายที่สุด AWN ก็กำลังจะเข้าเป็นสปอนเซอร์รายใหม่อยู่แล้ว ในประเด็นนี้ นายโสรัชย์ อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า “การขอแก้ไขสัญญาค่าเช่าฯ ครั้งนี้เป็นความตั้งใจของ JAS ในการแสดงความรับผิดชอบ โดย ณ ตอนนี้เรายังไม่ทราบว่าดีลการเข้าซื้อ 3BB และ JASIF โดย AWN จะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ เพราะมีกระบวนการของ กสทช. เข้ามาพิจารณา อาจจะสิ้นปี หรือปีหน้า

เพราะฉะนั้นเราต้องแสดงความรับผิดชอบและแก้ไขปัญหาของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ดีที่สุดก่อน ไม่ว่าจะเป็น พนักงาน ผู้บริหาร ที่ทุกวันนี้ยอมลดเงินเดือน และคู่ค้าอย่าง JASIF ที่เราก็ไม่ต้องการให้รายได้กองทุนเป็น 0 หากเรามีปัญหาในการชำระเงินค่าใบอนุญาตจาก กสทช. จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจโดยตรง โดยการขอแก้ไขสัญญาฯ ตามเงื่อนไขที่เรานำเสนอเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และเป็นข้อเสนอที่จะสร้างประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และจะทำให้ตัวกองทุน JASIF เองแข็งแรงขึ้น ในท้ายที่สุดหากเกิด Worst Case Scenario ที่ดีลจาก AWN ไม่สำเร็จ เราก็ต้องสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจของ JAS ให้เดินต่อไปได้ด้วยเช่นกัน”
             
นายพรชลิต กล่าวเสริมในประเด็นดังกล่าวว่า “ฝากผู้ถือหน่วยลองพิจารณาถึงข้อเสนอใหม่นี้ เพราะทางฝ่ายจัดการกองทุนฯ มองว่าการปรับแก้สัญญาครั้งนี้จะดีต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะกองทุน JASIF ที่จะได้รับประโยชน์ในระยะยาว พร้อมทั้งสร้างความมั่นคงให้กับกระแสเงินสด 80% ที่เหลืออยู่ และลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการผิดนัดชำระค่าเช่าจาก 3BB โดยกองทุนจะได้รับทั้งกระแสเงินสดโดยรวม (Total Cashflow) และ เงินปันผลต่อหน่วย (DPU) ที่สูงขึ้นกว่าสัญญาเดิม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยอย่างเห็นได้ชัด”
             
“สำหรับการปรับโครงสร้างครั้งนี้ของ 3BB และ JAS จะทำให้กระแสเงินสดของเรามีความมั่นคงและดีมากขึ้น เราจะมีศักยภาพมากขึ้น ทั้งการแข่งขันการขยายกิจการและการเติบโตทางธุรกิจ ไม่ว่าดีลการเข้าซื้อกิจการจะเป็นอย่างไร JAS ก็จะสามารถเติบโตและจ่ายค่าเช่าแก่ JASIF ได้อย่างเพียงพอ” นายสุพจน์ กล่าวปิดท้ายการเดินสายในครั้งนี้