แผนบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีฯ กรมชลประทานเร่งจัดการน้ำทุกมิติ

24 ม.ค. 2566 | 11:00 น.

กรมชลประทานได้เร่งรัดดำเนินงานให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้งานก่อสร้างเสร็จตามเป้าหมายและให้ประชาชนชาวนครศรีธรรมราชได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

ในเดือน พ.ย.2531 ได้เกิดอุทกภัยหลายพื้นที่ในภาคใต้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก บ้านเรือน รวมถึงชีวิตทรัพย์สินประชาชนและทรัพย์สินราชการจำนวนมาก โดย "นครศรีธรรมราช" เป็นอีกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เพราะเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ริมทะเลด้านอ่าวไทย มีลำน้ำธรรมชาติไหลผ่านตัวเมืองหลายสาย เมื่อมีฝนตกหนักบริเวณเทือกเขานครศรีธรรมราชจะมีปริมาณน้ำในคลองต่างๆ ไหลผ่านตัวเมือง แต่คลองมีขนาดเล็กลงและตื้นเขิน เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมือง ทำให้น้ำระบายลงทะเลไม่ทันจึงไหลบ่าท่วมตัวเมืองทุกปี

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยความเดือดร้อนดังกล่าว พระองค์ทรงพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการบรรเทาอุทกภัยและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายแก่เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2531 ณ อาคารชัยพัฒนา ภายในสวนจิตรลดา เพื่อเป็นแนวทางสำหรับทางราชการในการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ และแก้ไขป้องกันมิให้พื้นที่เหล่านั้นและบริเวณข้างเคียงได้รับความเสียหายอีก
 

กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการโครงการระบบระบายน้ำ โดยก่อสร้างและปรับปรุงคลองระบายน้ำเดิมเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบายน้ำได้มากขึ้น พร้อมทั้งสร้างประตูระบายน้ำเพื่อกักเก็บน้ำและป้องกันน้ำเค็มหนุนในหน้าแล้ง ซึ่งจะบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าดีและคลองหยวด ครอบคลุมเขตชุมชนเมืองนครศรีธรรมราชและพื้นที่ข้างเคียงได้ถึงรอบปีการเกิดซ้ำ 25 ปี 
 


การดำเนินการที่ผ่านมา นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้ติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวต่อเนื่อง โดยระบุว่า โครงการดังกล่าวช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตเมืองนครศรีธรรมราช ที่เกิดจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตอนบนของคลองท่าดี และคลองเสาธง ไหลลงคลองต่างๆ ก่อนไหลลงสู่ทะเลที่คลองท่าซักและคลองปากนคร ที่มีขีดความสามารถในการระบายน้ำรวมกันเพียง 268 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ปริมาณน้ำในคลองท่าดี มีปริมาณมากถึง 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

กรมชลประทานจึงขุดคลองระบายน้ำอ้อมตัวเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเล ด้วยการขุดลอกคลองระบายน้ำ 3 สาย ความยาว 18.64 กิโลเมตร ประกอบด้วย

สายที่ 1 ระบายน้ำได้ในอัตรา 650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 
สายที่ 2 ระบายน้ำได้ในอัตรา 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 
สายที่ 3 ระบายน้ำได้ในอัตรา 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 
 

พร้อมกับการขุดเพิ่มประสิทธิภาพคลองวังวัว ความยาว 5.90 กิโลเมตร ระบายน้ำได้ 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และขุดเพิ่มประสิทธิภาพคลองท่าเรือ-หัวตรุด ความยาว 11.90 กิโลเมตร ระบายน้ำได้ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

รวมถึงก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำ 7 แห่ง หากแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ 2 ฝั่งคลอง 17,400 ไร่ บรรเทาอุทกภัยเขตเมืองนครศรีธรรมราช และลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 90% ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง คิดเป็นครัวเรือนได้รับประโยชน์ 32,253 ครัวเรือน รวมทั้งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในอุปโภคบริโภคและการเกษตรในฤดูแล้งได้ถึง 5.50 ล้านลูกบาศก์เมตร

กรมชลประทานได้เร่งรัดดำเนินงานให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้งานก่อสร้างเสร็จตามเป้าหมายและให้ประชาชนชาวนครศรีธรรมราชได้ใช้ประโยชน์ต่อไป