ภาคประชาชนบุก! กดดันผู้ว่า กกท. เปิดเผย MOU ลิขสิทธิ์บอลโลกอย่างโปร่งใส ลบครหาเอื้อประโยชน์ทรู

01 ธ.ค. 2565 | 15:31 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2565 | 22:39 น.

บอลโลกยุ่ง! โดนฟ้องศาล แล้วยังถูกร้อง ป.ป.ช. สอบ กกท. และ กสทช. เอาผิดฐาน เจ้าหน้าที่รัฐนำงบของรัฐเอื้อประโยชน์เอกชน

วันนี้ (30 พฤศจิกายน 2565) ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เครือข่ายประชาชน ภายใต้ชื่อกลุ่ม “คนรักฟุตบอลโลก” นับ 20 คน เดินทางไปยื่นหนังสือถึง ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อร้องขอให้เปิดเผยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สำนักงาน กสทช. กับ กกท. , รายละเอียดของสัญญาที่ กกท.ได้ทำกับ FIFA รวมถึงสัญญาที่ กกท.มอบสิทธิ์ให้เอกชนรายหนึ่ง ต่อสาธารณะ เพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงรายละเอียดในประเด็นที่กำลังเป็นกระแสสังคมอยู่ในขณะนี้
 

นายศรรัก มาลัยทอง ตัวแทนเครือข่ายประชาชน กลุ่ม “คนรักฟุตบอลโลก” กล่าวว่า กกท.กับ สำนักงาน กสทช. ต่างเป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการ การถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 ให้ประชาชนได้รับชมอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค ผ่านทุกแพลตฟอร์ม โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ตามเจตนารมณ์ที่ภาครัฐได้ระบุไว้ถึงเหตุผลในการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์กับ FIFA ในช่วงก่อนหน้านี้ ดังนั้นการที่ กกท. ยินยอมให้กลุ่มทรู ได้สิทธิ ถ่ายทอดสดจำนวน 32 นัดจากทั้งหมด 64 นัด ถือเป็นการมอบ “สิทธิ” พิเศษเหนือกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ ทั้งที่ไม่มีอำนาจ

 


 

อีกทั้งถือเป็นการเอื้อประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด ทำให้ประชาชนคนไทยนับล้านคน ได้รับความเสียหายจากการที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จึงถือว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายกระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ   

 

ดังนั้น กลุ่มเครือข่ายฯ จึงขอให้ กกท. พิจารณาและชี้แจงประเด็นต่างๆ โดยเร่งด่วน ดังนี้
 

1. ขอให้ กกท. ชี้แจงรายละเอียดข้อตกลง MOU ระหว่าง สำนักงาน กสทช. กับ กกท. , รายละเอียดของสัญญาที่ กกท.ได้ทำสัญญากับ FIFA รวมถึงสัญญาอื่นใดที่ กกท.ทำสัญญามอบสิทธิให้เอกชนรายอื่นทั้งหมด ต่อสาธารณะ เพื่อความโปร่งใส่ในการปฏิบัติหน้าที่
 

2. การที่ สำนักงาน กสทช. ได้ลงนาม MOU กับการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ “กกท.” โดยสนับสนุนงบประมาณจำนวน 600 ล้านบาท เพื่อให้ กกท.นำงบประมาณดังกล่าวไปซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก  (FIFA World Cup Final 2022) ตามที่ กกท.ร้องขอ ย่อมถือได้ว่าลิขสิทธิ์รายการนี้ ยังคงเป็นของรัฐ ซึ่ง กกท.ไม่สามารถนำสิทธิ์ไปมอบให้เอกชนรายใดรายหนึ่งดำเนินการบริหารจัดการที่เอื้อประโยชน์ของตนต่อได้  เพราะนอกจากจะส่อเจตนารมณ์ในเชิงผลประโยชน์ต่อเอกชนรายดังกล่าวแล้ว ยังถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป Must Carry ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอีกด้วย
 

3. การใช้งบประมาณสนับสนุน การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ เป็นงบประมาณของภาครัฐที่มีมูลค่าสูง ดังนั้น กกท. ไม่ควรเอื้อให้เอกชนรายใดรายหนึ่งนำสิทธิไปธุรกิจ เพื่อแสวงหาประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนที่ต้องสามารถรับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายของ สำนักงาน กสทช.ที่กำหนดไว้ 


 

4. การที่กลุ่มบริษัททรู ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้ใบอนุญาตฯ ได้อ้างสิทธิ์ของรายการนี้ ถือเป็นการดำเนินการที่ฝ่าฝืนประกาศ กสทช. และใช้อำนาจศาลในการปิดกั้นการเข้าถึงการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก ถือเป็นการจงใจละเมิดการปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตและประกาศ กสทช. หรือไม่
 

5. การที่กลุ่มบริษัททรู ได้สิทธิ์เลือกถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกเฉพาะคู่สำคัญ ถือเป็นการดำเนินการผิดกระบวนการ โดยใช้สิทธิเหนืออำนาจรัฐ 
 

6. ขอให้ กกท. พิจารณาแนวทางการเยียวยาประชาชนผู้ที่ต้องการรับชมการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 แต่ไม่สามารถรับชมได้ จากผลกระทบของการทำสัญญา MOU ระหว่าง กสทช. กับ กกท. และการดำเนินการโดยมิชอบของ กกท. ที่ได้ดำเนินการทำสัญญากับเอกชน โดยไม่ผ่านระเบียบกระบวนการทางราชการ
 

7. ขอให้ กกท. ในฐานะผู้ถือสิทธิรายการนี้ กำหนดให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ภายใต้การกำกับของ กสทช. ทุกประเภท สามารถนำรายการการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 ให้ประชาชนสามารถรับชมได้ทุกคู่การแข่งขัน ได้ฟรี อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
 

ท้ายที่สุด กลุ่มเครือข่ายฯ เห็นควรให้ดำเนินคดีอาญากับ กทท., สำนักงาน กสทช. รวมถึง ทรูตามความผิดที่กล่าวถึงข้างต้น เพื่อเป็นฐานในการต่อสู้คดีแพ่งต่อไป นอกจากนั้น จะฟ้องเพื่อให้เพิกถอนข้อตกลง ที่ กกท. มอบลิขสิทธิ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวให้กับกลุ่มทรู ต่อศาลปกครองด้วย