สถาบันพระปกเกล้า ลุยโครงการ “ญาญอ ผ้าทอแห่งวัฒนธรรม” ลดความเหลื่อมล้ำ 

25 ก.พ. 2565 | 11:14 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2565 | 18:26 น.

สถาบันพระปกเกล้า จับมือภาคีเครือข่ายจังหวัดเชียงราย ร่วมขับเคลื่อนโครงการ “ญาญอ ผ้าทอแห่งวัฒนธรรม” ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้สู่ชุมชน ด้าน “ดร.ถวิลวดี” ชี้ ความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือและใส่ใจจากทุกภาคส่วน

ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า เป็นผู้แทนเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ร่วมพิธีลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงความร่วมมือ (LOI) การขับเคลื่อนโครงการ “ญาญอ ผ้าทอแห่งวัฒนธรรม” ร่วมกับภาคีเครือข่ายในจังหวัดเชียงราย

 

ประกอบด้วย คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สำนักงานเกษตรอำเภอแม่สรวย สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่สรวย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย องค์การบริหารส่วนตำบลวาวี ซึ่งเป็นโครงการของนักศึกษาหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 11 กลุ่มไก่ฟ้า สถาบันพระปกเกล้า

 

เพื่อช่วยเหลือและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้แก่ชาวบ้านกลุ่มปกาเกอะญอ บ้านทุ่งพร้าวกะเหรียง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ณ ห้องประชุมแสนหวี อาคารหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

สถาบันพระปกเกล้า ลุยโครงการ “ญาญอ ผ้าทอแห่งวัฒนธรรม” ลดความเหลื่อมล้ำ 

ดร.ถวิลวดี กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้าจัดเป็นหลักสูตรนี้เพื่อต้องการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีจิตวิญญาณของประชาธิปไตย มีความห่วงหาอาทร ให้กับประชาชนทั่วไป มีความเคารพในความเป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล โดยมีอุดมการณ์ของการให้การศึกษาหลักสูตร

 

คือ ทำให้นักศึกษาติดดิน และเข้าใจในเรื่องของสิทธิมนุษยชน และช่วยกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาของประเทศโดยเฉพาะเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศในตอนนี้ ทั้งนี้คนรุ่นใหม่คงจะทำประสบความสำเร็จหากปราศจากการมีส่วนร่วมจากจากทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มสตรีชุมชนบ้านทุ่งพร้าว มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เกษตรอำเภอแม่สรวย วัฒนธรรมจังหวัด ซึ่งมองว่าเราได้รับความร่วมมือที่ดีที่ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือในครั้งนี้

 

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้เชื่อว่าเกิดจากความใส่ใจของนักศึกษา และทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะเราเอาใจทำ และใช้ใจทำ มันถึงได้เกิดมาเป็นวันนี้ และได้เห็นความสำเร็จ 

สถาบันพระปกเกล้า ลุยโครงการ “ญาญอ ผ้าทอแห่งวัฒนธรรม” ลดความเหลื่อมล้ำ 

ด้าน ผศ.ดร.มิ่งขวัญ สมพฤกษ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่าสิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือของฝ่ายต่างๆ เพราะอย่างที่เราทราบดีปัญหาความเหลื่อมล้ำความยากจนของประชาชนในท้องถิ่นยังคงมีอยู่มาก

 

และหากเราได้ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยที่เราสามารถให้ความช่วยเหลือในจุดนี้ได้ ในอนาคตก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่จะสามารถช่วยเหลือให้ชาวบ้านทั้งหมดในหลายชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสามารถมีการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ประยุกต์ใช้สิ่งที่มีในหมู่บ้านของเขาให้เกิดประโยชน์ สร้างมูลค่า และสามารถแก้ปัญหาความยากจนให้กับเขาได้

สถาบันพระปกเกล้า ลุยโครงการ “ญาญอ ผ้าทอแห่งวัฒนธรรม” ลดความเหลื่อมล้ำ 

ขณะที่ นายอุดม พรมจันทร์ตา เกษตรอำเภอแม่สรวย กล่าวว่า ทางเกษตรอำเภอตั้งใจส่งเสริมและสนับสนุนอยากให้เกิดกลุ่มลักษณะแบบนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของกลุ่มด้วยในการที่จะขับเคลื่อนไปในแนวทางวิสาหกิจชุมชน ซึ่งทางเกษตรอำเภอมีการขับเคลื่อนให้กลุ่มอาชีพต่างๆเพื่อเข้าสู่ระบบวิสาหกิจชุมชนอยู่แล้ว

 

และเมื่อทางนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเข้ามาและมีแนวคิดในการสร้างโครงการฯ นี้ ซึ่งมองว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการรวมกลุ่ม และขับเคลื่อนไปในแนวทางที่ภาคราชการสามารถสนับสนุนได้ วันนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องทำงานร่วมกันทุกถาคีเครือข่ายเพื่อให้เกษตรกรไปสู่แนวทางที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด

 

ส่วนนายปกรณ์เกียรติ พิสัยเลิศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวาวี ระบุว่า การทอผ้าของชนเผ่าปกาเกอะญอมีลักษณะจุดเด่นเฉพาะที่สามารถนำไปต่อยอดและประยุกต์ได้ ซึ่งเป็นอาชีพที่ควรจะส่งเสริมให้คนในพื้นที่ได้มีงานทำ และส่งเสริมรักษาการทอผ้าของปกาเกอะญอ เห็นว่าเราจะต้องร่วมกันส่งเสริมไม่ว่าจะด้านใดด้านหนึ่งทางด้านอาชีพ ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งที่ทาง อบต. จะต้องส่งเสริมในการทำอาชีพให้ยั่งยืน และหวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดหนึ่งที่จะทำให้ชนเผ่ามีอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้กลับสู่ชุมชน

 

ด้าน นางชมพูนุท ธรรมยา พัฒนาการอำเภอแม่สรวย ระบุว่า การส่งเสริมจัดตั้งกลุ่มอาชีพ เป็นภารกิจหลักของกรมพัฒนาชุมชนที่ต้องสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างรายได้ของคนในครัวเรือนในชุมชน เพื่อทำให้ประชาชนมีอาชีพที่มั่นคงยั่งยืน และมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น 

 

เช่นเดียวกับ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ที่ระบุว่า ทางวัฒนธรรมจังหวัดมีการส่งเสริมในเรื่องของการสืบทอดมรดกภูมิปัญหา ซึ่งการที่นักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเข้ามาช่วยเหลือและพัฒนาผ้าทอของชาวปกาเกอะญอในพื้นที่เชียงรายถือว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดี เพราะนอกจากจะช่วยทำให้การสืบทอดมรดกภูมิปัญญาเกิดผลมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และยังจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอีกด้วย