เครือซีพี จับมือสมาคมสื่อฯ มอบทุนการศึกษา "ยุวชนครอบครัวคนข่าว”

19 ก.พ. 2565 | 15:15 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.พ. 2565 | 22:25 น.

สมาคมองค์กรสื่อร่วมเครือซีพีมอบทุนการศึกษา“ซีพีเพื่อยุวชนครอบครัวคนข่าว” ปลูกฝังความกตัญญูแก่เด็กและเยาวชน พร้อมแบ่งเบาภาระพ่อแม่ผู้ปกครองในภาวะวิกฤตโควิด-19

19 กุมภาพันธ์ 2565 – สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย และกลุ่มสื่อ News Media ได้ร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์มอบทุนการศึกษา “ซีพีเพื่อยุวชนครอบครัวคนข่าว” แก่บุตรธิดาของสมาชิกองค์กรสื่อต่าง ๆ จำนวน 100 ทุน ทุนละ 10,000 บาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของครอบครัวคนข่าวในช่วงที่ประเทศยังเผชิญกับโควิด-19 ควบคู่ไปกับการปลูกฝัง “ความกตัญญู” แก่เด็กและเยาวชนไทย 

คุณมงคล บางประภา

 

โดยทุนการศึกษานี้จะคัดเลือกผ่านการเขียนเรียงความเรื่องความกตัญญู ทั้งนี้ได้มีการจัดพิธีมอบทุนซีพีเพื่อยุวชนครอบครัวคนข่าวขึ้น ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 6 ทรู ดิจิทัล พาร์ค โดยมี นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นางสาวพิมพ์รภัส ศิริไพรวัน นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายจตุพล ยอดวงศ์พะเนา คณะกรรมการสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนนายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรฯและทางเครือซีพีนำโดย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้มอบทุนการศึกษาดังกล่าวนี้ 

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เครือซีพี กล่าวว่า  เครือซีพีและสมาคมสื่อฯ ได้ร่วมกันดำเนินโครงการทุนการศึกษาซีพีเพื่อยุวชนครอบครัวคนข่าวขึ้นเป็นปีแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระด้านค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนแก่บุตรธิดาของครอบครัวคนข่าวในช่วงวิกฤตโควิด-19 และเป้าหมายที่สำคัญอีกประการของทุนการศึกษานี้คือการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลูกฝังความกตัญญูแก่เด็กและเยาวชนในสังคมไทย   

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ

 

ซึ่งเป็นแนวคิดของประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ต้องการปลูกฝังแนวคิดเรื่องความกตัญญู ให้เกิดในสังคมไทยเพราะความกตัญญูเป็นรากฐานสำคัญซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของเครือซีพี ที่เชื่อมั่นในคุณค่าของความกตัญญูมาตลอดระยะเวลา 100 ปีในการดำเนินธุรกิจ  โดยผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาฯ จะต้องเขียนเรียงความถ่ายทอดเรื่องราวความกตัญญู 


 

ทั้งนี้เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่มีเยาวชนคนรุ่นใหม่จากครอบครัวคนข่าวตั้งแต่อนุบาลจนไปถึงอุดมศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมส่งเรียงความ และนำเสนอมุมมองแนวคิดความกตัญญูในหลายมิติ ทั้งความกตัญญูต่อพ่อแม่ผู้มีพระคุณ การช่วยเหลือคนรอบข้างโดยไม่หวังผลตอบแทน ไปจนถึงการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ  ทุนการศึกษานี้จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจร้อยเรียงความดีของเครือซีพีสู่สังคม

 

“เราหวังว่าทุนการศึกษานี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงคุณค่าของความกตัญญูซึ่งถือเป็นคุณธรรมและวัฒนธรรมทีดีงามของสังคมไทย ทั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการทุนการศึกษาซีพีเพื่อยุวชนครอบครัวคนข่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลูกฝังความกตัญญูแก่สังคมไทย และมีความยินดีที่วันนี้สมาคมสื่อฯทั้ง 4 สมาคมฯได้ร่วมมือกันเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความกตัญญูให้กับเด็กๆ และเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของชาติไทย และหวังว่าทุนการศึกษานี้จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวคนข่าวได้ไม่มากก็น้อย” ดร.ธีระพล กล่าว

ด้าน นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า  การมอบทุนการศึกษาในครั้งนี้เป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่บุตรหลานนักวิชาชีพสื่อมวลชนหลากหลายแขนงในเครือข่ายสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย และกลุ่มสื่อออนไลน์ 

 

ซึ่งการมอบทุนดังกล่าวเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้ปกครองนักวิชาชีพสื่อมวลชนในช่วงที่ประเทศยังเผชิญกับโควิด-19 ทำให้ลูกหลานที่เรียนอยู่สามารถนำทุนนี้ไปใช้จ่ายทางด้านการศึกษา ทั้งนี้ยังมีความรู้สึกยินดีที่ได้ร่วมกับพันธมิตรในวงการสื่อมวลชนและเครือซีพีปลูกฝังค่านิยมความกตัญญูผ่านคนรุ่นใหม่ที่ถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเครือข่ายสมาคมสื่อฯ พร้อมร่วมมือสื่อสารผลักดันแนวคิดความกตัญญูให้เกิดความตระหนักรู้ในวงกว้างของสังคมไทยต่อไป

กัญญารัตน์ รอดทอง

ด.ญ. กัญญารัตน์ รอดทอง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้รับทุนการศึกษาซีพีเพื่อยุวชนครอบครัวคนข่าว เปิดเผยว่า ขอบคุณเครือซีพีที่ได้มอบทุนการศึกษาในครั้งนี้ให้ เพราะทุนการศึกษานี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของคุณพ่อคุณแม่ ที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อนำเงินมาจ่ายค่าเทอมในช่วงโควิด-19 ครอบครัวเราปลูกฝังเรื่องความกตัญญูมาตลอด ต้องช่วยกันทำมาหากินแบ่งเบาภาระในครอบครัว ทุกเช้าหนูช่วยคุณย่าทำขนมไทยเอาไปขาย และไลฟ์ในสื่อออนไลน์ช่วยคุณแม่ขายลูกอมกระชายขาว เป็นสิ่งที่รู้สึกภูมิใจมาก อยากให้เป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนทำความดี กตัญญูต่อพ่อแม่เรา ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด 

นนทกานต์ สิงห์สุวรรณ

นายนนทกานต์ สิงห์สุวรรณ  นักศึกษาปีที่ 1  มหาวิทยาลัยบูรพา  เล่าเรื่องราวความกตัญญูผ่านเรียงความที่ระบุว่า ในฐานะที่เกิดเป็นคนไทยคนหนึ่งที่เชื่อในคุณค่าของความกตัญญู และถือเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทย ด้วยการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์  มุ่งมั่นทำความดีตอบแทนสังคม เช่น การทำกิจกรรมจิตอาสาในพื้นที่ต่าง ๆ  รวมไปถึงการกตัญญูต่อครอบครัว ซึ่งถือเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเบาภาระงานบ้าน และการดูแลพ่อแม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนความดีและความกตัญญูที่คนในสังคมทำร่วมกันได้ 

ภัทราภรณ์ พงษ์ทอง

ด.ญ.ภัทราภรณ์  พงษ์ทอง  ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนโสมาภา (นวมินทร์) ถ่ายทอดเรื่องความกตัญญูในเรียงความ ระบุว่า ตนเองป่วยเป็นโรคเนื้องอกที่ก้านสมอง ซึ่งได้ผ่าตัดเป็นครั้งที่ 2 ที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่พักฟื้นและกายภาพได้มีโอกาสไปอยู่ห้องพักรวมกับผู้ป่วยเด็กอื่น ๆ และได้เห็นว่าพยาบาลต้องเย็บถุงย่ามสำหรับใส่ถุงปัสสาวะเพื่อให้กับผู้ป่วยเด็กสะพายเดิน ปัจจุบันได้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว แต่ต้องทำคีโมทุกสัปดาห์ ในช่วงเวลาว่างจากการเรียนออนไลน์ จึงช่วยแม่เย็บถุงย่ามแล้วนำไปบริจาค ซึ่งเป็นเรื่องราวที่รู้สึกภูมิใจมากและต้องการให้คนไทยช่วยกันทำความดีช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดและแบ่งปันให้คนรอบข้างกันให้มาก ๆ