เปิดคัมภีร์ “ไทยยูเนี่ยน” กลยุทธ์ Blue Finance ขับเคลื่อนธุรกิจ

30 ธ.ค. 2564 | 08:50 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ธ.ค. 2564 | 15:51 น.

“ไทยยูเนี่ยน”  เปิดแผนธุรกิจสุดแกร่ง ใช้ “Blue Finance” ขับเคลื่อนธุรกิจ 14 ประเทศทั่วโลก ตั้งเป้ามุ่งเข็มทิศสู่เป้าหมายองค์กรแห่งความยั่งยืน ตามแนวทางสหประชาชาติ ชี้เทรนด์ผู้บริโภค “สุขภาพ-รักษ์โลก” มาแรง

หากเอ่ยชื่อไทยยูเนี่ยน สำหรับแวดวงธุรกิจนักลงทุนแล้วคงเป็นที่รู้จักกันดี เพราะ “ไทยยูเนี่ยน” หรือบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (จำกัด) มหาชน หรือที่นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เรียกกันติดปากว่า ทียู (TU) คือ ธุรกิจทูน่าแปรรูปรายใหญ่ที่สุดของโลกเป็นแบรนด์ไทย นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ตลอดจนธุรกิจเพิ่มมูลค่าอื่นๆ เป็นธุรกิจที่เติบโตในต่างแดนได้อย่างเข็งแกร่งทั้งฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกา

เปิดคัมภีร์  “ไทยยูเนี่ยน” กลยุทธ์ Blue Finance ขับเคลื่อนธุรกิจ

TU หรือ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป คือใคร

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักในหลักทรัพย์ว่า TU ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2520  โดยเริ่มจากโรงงานผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องในมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลกและหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตทูน่าบรรจุกระป๋องที่ใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยยอดขายในปี 2563 กว่า 132.4 พันล้านบาท (4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และแรงงานทั่วโลกมากกว่า 40,000 คน ที่ทุ่มเทให้กับการบุกเบิกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

“ไทยยูเนี่ยน” เป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ เบลลอตต้า และมาร์โว่ นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอาหารภายใต้แบรนด์ UniQ™BONE และ UniQ™DHA และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพแบรนด์ ZEAvita บริษัทดำเนินงานใน 3 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1. กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและบรรจุภัณฑ์อื่นๆ 2. กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็น และ 3. กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทครองตลาดหลัก ๆ ทั่วโลกซึ่งประกอบด้วย อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีฐานการผลิตกระจายอยู่ 14 ประเทศทั่วโลก 

เปิดคัมภีร์  “ไทยยูเนี่ยน” กลยุทธ์ Blue Finance ขับเคลื่อนธุรกิจ

รวมทั้งมีเครือข่ายในการจัดหาวัตถุดิบผลิตและเครือข่ายการกระจายสินค้าครอบคลุมทั่วโลก นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า ไทยยูเนี่ยนมียอดขายหรือตลาดกระจายตัวอยู่ทั่วโลก โดยตลาดหลักอยู่ที่อเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกาและแคนาดา) 44% และยุโรป 29% ในขณะที่ยอดขายในประเทศไทยมีสัดส่วนที่ 10% และตลาดอื่น ๆ อีก 17% ของยอดขายทั้งหมด 

เปิดคัมภีร์  “ไทยยูเนี่ยน” กลยุทธ์ Blue Finance ขับเคลื่อนธุรกิจ

ชูกลยุทธ์ ฝ่าวิกฤติโควิด

สำหรับในปี 2563 ถือเป็นปีที่ท้าท้ายจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่บริษัทสามารถมีผลประกอบการที่ยอดเยี่ยม ด้วยยอดขาย 132,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 มีกำไรสุทธิ 6,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.7 สัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 0.94 เท่า ณ สิ้นปี 2563  ส่วน 9 เดือนแรก ของปี 2564 ยอดขายยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็น 102,547 ล้านบาท (+3.6% เทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2563) และ กำไรสุทธิของบริษัทสะสม 9 เดือนที่ 6,083 ล้านบาท (+27.0% เทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2563) ทั้งนี้ ยอดขายจากธุรกิจหลักยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยังคงอัตรากำไรได้ในระดับสูงซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและสถานการณ์ “โควิด-19” นอกจากนี้บริษัทยังเสริมจุดแกร่งก้าวสู่ “BlueFinance” สินเชื่อส่งเสริมความยั่งยืนเป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ มูลค่า 12,000 ล้านบาท ตามมาด้วยการออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม มูลค่า 5,000 ล้านบาท อายุ 7 ปี ให้กับผู้ลงทุนสถาบัน และในเดือนพฤศจิกายน ไทยยูเนี่ยนได้ออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนอีกครั้ง อายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี 

เพื่อกระจายฐานในส่วนผู้ลงทุนสถาบัน มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท นับเป็นก้าวสำคัญในการก้าวสู่ “Blue Finance” การบริหารการเงินเพื่อเป้าหมายการอนุรักษ์ท้องทะเล โดยมีการกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อและหุ้นกู้ของบริษัทเชื่อมโยงกับตัวบ่งชี้และเป้าหมายผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน จนกระทั่งได้รางวัล Product of the Year Awards จัดโดยนิตยสาร Business+ ในเครือบริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) และวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล มอบรางวัลแก่สินค้าและบริการที่มีความโดดเด่นทั้งนวัตกรรมและเป็นสุดยอดสินค้าและบริการแห่งปีที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน

ด้วยซีรีย์ของสินเชื่อและหุ้นกู้ที่ส่งเสริมความยั่งยืน นับเป็นการก้าวจากการจัดหาเงินแบบดั้งเดิมไปสู่ Blue Finance ซึ่งเป็นการบริหารการเงินของธุรกิจที่มีโครงการต่างๆ ในการดูแลมหาสมุทรและอุตสาหกรรมอาหารทะเลในภาพรวม ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อและหุ้นกู้นั้นกำหนดให้เชื่อมโยงกับตัวบ่งชี้และเป้าหมายผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และหากสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าก็จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง  สำหรับไทยยูเนี่ยน 

ตัวบ่งชี้การดำเนินงานที่ตั้งไว้ได้แก่ 1.การได้รับการจัดอันดับในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์หรือ DJSI ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง 2. การลดปริมาณความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้า และ 3.บริษัทต้องซื้อปลาจากเรือที่มีเครื่องมือการตรวจสอบอิเล็คทรอนิคส์และ/หรือผู้ตรวจสอบความโปร่งใสของซัพพลายเชนในจัดหาปลาทูน่าทั่วโลกหรือ Blue Finance โดยภายในปี 2565 บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนในการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) เป็นร้อยละ 50 ของสัดส่วนหนี้สินระยะยาวทั้งหมดของบริษัท และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 75 ในปี 2568 และในปี 2564 ก็นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทที่ต้องการพัฒนาตลาดทุนเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย 

เปิดคัมภีร์  “ไทยยูเนี่ยน” กลยุทธ์ Blue Finance ขับเคลื่อนธุรกิจ

ระดมทุนส่งเสริมความยั่งยืน

โดยบริษัทได้ดำเนินการตามแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อความยั่งยืนในปี 2564 ดังต่อไปนี้

1.ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อส่งเสริมความยั่งยืน(Sustainability-Linked Loan)เป็นครั้งแรกทั้งในประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นประกอบด้วยสินเชื่อที่ออกในประเทศไทยเป็นสกุลเงินไทยบาทและดอลล่าร์สหรัฐและสินเชื่อนินจา/ซามูไรในประเทศญี่ปุ่นเป็นสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐและเยน โดยสินเชื่อทั้งสองจำนวนนี้รวมกันเป็นจำนวนเทียบเท่า 12,000 ล้านบาท ระยะเวลาในการกู้ยืม 5 ปี ซึ่งมีการกู้ยืมครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยการขอสินเชื่อในครั้งนี้ของไทยยูเนี่ยนได้รับการตอบรับมากกว่าสินเชื่อที่ต้องการมากกว่า 2 เท่า

2.การออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond)  เป็นครั้งแรกในประเทศไทย มูลค่า 5,000 ล้านบาท อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.47% ต่อปี ให้กับผู้ลงทุนสถาบัน เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 โดยมีจำนวนยอดจองซื้อมากกว่า 2 เท่า

3.การออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond)  ต่อเนื่องจากครั้งแรก มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการออกหุ้นกู้จำนวน 2 รุ่นเพื่อกระจายให้คลอบคลุมกลุ่มนักลงทุนระยะสั้นและระยะยาวได้ดียิ่งขั้น ประกอบด้วย รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.27% ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.36% ต่อปี ให้กับผู้ลงทุนสถาบัน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 โดยมีจำนวนยอดจองซื้อมากกว่า 2 เท่าเช่นกัน 

หลังจากที่บริษัทฯ ได้จัดทำอันดับเครดิตองค์กรกับ JCR ที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว บริษัทฯ เล็งเห็นโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในประเทศญี่ปุ่นที่ดีขึ้นในระดับต้นทุนทางการเงินที่ดีขึ้น จึงตัดสินใจออกสินเชื่อนินจาที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเป็นครั้งที่สองที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 9 ธันวาคม 2564 โดยเป็นสินเชื่อสกุลเงินเยนทั้งหมดจำนวน 14,000 ล้านเยน ระยะเวลา 5 ปี และจากผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องและผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก JCR อยู่ที่ A-ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับที่ประเทศไทย  ทำให้ไทยยูเนี่ยนได้รับการตอบรับจากสถาบันการเงินมากกว่าสองเท่าตัวจากจำนวนสินเชื่อที่ต้องการ

นอกจากนี้บริษัทฯยังได้รับการสนับสนุนสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ท้องทะเล จำนวน 2,000 ล้านบาทจากธนาคารชั้นนำในประเทศไทย เมื่อ 13 ธันวาคม 2564 รวมทั้ง บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับบางธนาคารในประเทศไทย เพื่อปรับเปลี่ยนวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นและตราสารอนุพันธ์ให้เป็นวงเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนมากขึ้น 

ธุรกิจเป็นมากกว่าอาหารทะเล

นอกจากจะเป็นบริษัทอาหารทะเลของคนไทยที่เติบโตในระดับโลกแล้ว ไทยยูเนี่ยนมองว่าการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบคือหัวใจสำคัญของธุรกิจ โดยเฉพาะความยั่งยืนของทะเล เพราะถือคติว่าหากไม่มีทะเลแล้วก็จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจอาหารทะเลได้ สอดคล้องไปกับแนวคิดและเป้าหมายเรื่อง Healthy Living, Healthy Oceans  ที่มองธุรกิจเป็นมากกว่าอาหารทะเล 

แต่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพความเป็นอยู่ให้กับผู้คน และในการดำเนินธุรกิจนั้นก็ต้องดูแลทรัพยากรในท้องทะเลไปด้วย ในภาพใหญ่และในฐานะบริษัทระดับโลก การทำงานด้านความยั่งยืนจึงตอบรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSDG ไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ดี “ไทยยูเนี่ยน” ให้ความสำคัญคือการดูแลแรงงานทั้งในบริษัทเองและห่วงโซ่อุปทานให้มีการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย  มีการจัดหาวัตถุดิบอย่างโปร่งใส การผลิตต่างๆ มีความรับผิดชอบ และแน่นอนที่สุดคือดูแลสังคมอย่างต่อเนื่อง

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องทำอย่างเป็นรูปธรรม มีนโยบายบริษัทและขั้นตอนการทำงานชัดเจน เน้นความโปร่งใสเป็นสำคัญ และที่สำคัญคือความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ  ซึ่งการทำงานด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยนเป็นรูปธรรมและลงมือทำจริงจนสามารถนำมาเป็น KPI ที่เชื่อมโยงกับอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อและหุ้นกู้ Blue Finance 

สำหรับตัวอย่างผลงานด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน  อาทิ เข้าร่วมในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) ,เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF),เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones  Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่ 8 ปีติดต่อกัน,ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน และอันดับหนึ่ง Seafood Stewardship Index (SSI) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

เปิดคัมภีร์  “ไทยยูเนี่ยน” กลยุทธ์ Blue Finance ขับเคลื่อนธุรกิจ

ตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่ ใส่สุขภาพ

ที่สำคัญบริษัทได้วางแผนกลยุทธ์ไปจนถึงปี 2568 โดยตั้งต้นจากแนวคิด Healthy Living, Healthy Oceans เป็นการสร้างกลยุทธ์จากเทรนด์ระยะยาวของผู้บริโภคทั่วโลกที่มองหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีความยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตของยอดขายในระดับปานกลางและเพิ่มอัตราการทำกำไรให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของ 3 ธุรกิจหลัก 

บริษัทยังคงมุ่งเน้นการเสริมกำลังให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นโดยการนำเทคโนโลยีออโตเมชั่น เข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ก้าวทันอนาคต รวมถึงสร้างแบรนด์ต่างๆ ที่มีอยู่ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังเพิ่มการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ เช่น ธุรกิจอินกรีเดียนท์ นิวตรีชั่น (น้ำมันปลา แคลเซี่ยม คอลลาเจน โปรตีนสกัดจากปลาทูน่า เป็นต้น) และโปรตีนทางเลือก เป็นต้น และนำเรื่องนวัตกรรม รวมถึงสตาร์ทอัพ เข้ามาช่วยเสริมเพื่อให้ธุรกิจก้าวทันโลก ซึ่งทั้งหมดได้ดำเนินการไปควบคู่กับการรักษาความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างถูกต้องและเป็นธรรม และ ความปลอดภัยของผู้คนที่เกี่ยวข้อง จึงให้บริษัท ดังกล่าวนับตั้งแต่วันก่อตั้งจวบจนถึงปัจจุบันกว่า 44 ปี 

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรอยู่ที่ระดับ “A+” แนวโน้ม “บวก” หรือ “Positive เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 และที่ระดับ “A-“ แนวโน้ม “คงที่” หรือ “Stable” (ซึ่งเป็นอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกับประเทศไทย)  เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 จาก Japan Credit Rating Agency, Ltd. หรือ JCR  เป็นรางวัลการันตีความสำเร็จ ซึ่งเป็นอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่เข้มแข็งของบริษัทในฐานะผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปชั้นนำของโลก