กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จัดกิจกรรมศึกษาดูงานด้านระบบขนส่งทางราง ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และพัฒนาเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง ที่เชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่จีนตอนใน โดยกิจกรรมนี้มีเป้าหมายหลักในการผลักดันไทยให้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในเครือข่ายโลจิสติกส์ระดับโลก
โดยคณะจากกรมรางฯ ได้เข้าพบผู้บริหารของบริษัท New Land Sea Corridor Operation (NLS) ซึ่งรับผิดชอบดูแลและบริหารจัดการเส้นทางการค้าภายใต้โครงการ China-Singapore (Chongqing) Demonstration Initiative ที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและประเทศพันธมิตรในกรอบ Belt and Road Initiative (BRI) โดยมีภารกิจหลักในการผลักดันการเชื่อมโยงทางการค้ารูปแบบใหม่ระหว่างจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ กรมรางฯ ยังได้ศึกษาการดำเนินงานของระเบียงเศรษฐกิจ Chongqing New Land Sea Corridor ซึ่งถือเป็นเส้นทางขนส่งแบบผสมผสานที่ใช้ทั้งระบบราง ทางทะเล และถนน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า ลดระยะเวลาและต้นทุนการขนส่ง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าที่ต้องการความรวดเร็ว เช่น ผลไม้สดจากประเทศไทย
โดยไฮไลต์ของการศึกษาระบบรางประเทศจีนในครั้งนี้ คือการเยี่ยมชมสถานีรถไฟ Tuanjiecun ซึ่งเป็นศูนย์กลางขนส่งในฝั่งตะวันตกของจีนและของเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป ตลอดจนคลังตู้คอนเทนเนอร์และศูนย์แสดงเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศของนครฉงชิ่ง ซึ่งช่วยให้คณะผู้แทนไทยได้เข้าใจระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนด้วยระบบอัตโนมัติและนวัตกรรมล้ำสมัยที่จีนกำลังใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการขนส่ง
ทั้งนี้ จากสถิติของกรมรางฯ ระบุว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างไทย-สปป.ลาว เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จาก 2,288 ตันในปี 2564 เพิ่มเป็น 46,287 ตันในปี 2566 และล่าสุดในปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 63,676 ตัน หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 37.56% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ประกอบการที่หันมาใช้ระบบรางมากขึ้น เนื่องจากความรวดเร็วและต้นทุนที่คุ้มค่า โดยเส้นทางจากไทยไปยังนครฉงชิ่งใช้เวลาเพียง 4 วัน เทียบกับทางเรือที่ใช้เวลาเกือบ 2 สัปดาห์
สำหรับเครือข่ายรถไฟจีน-ยุโรป ซึ่งเป็นเส้นทางหลักใน BRI นั้น มีขบวนรถไฟเชื่อมโยงมากกว่า 110 เมืองในเอเชียและยุโรป โดยในปี 2566 มีปริมาณการขนส่งสินค้ากว่า 430,000 TEU ซึ่งเส้นทางหลักที่ใช้คือสายเฉิงตู–ฉงชิ่ง ที่เชื่อมจีนผ่านคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ จนถึงเยอรมนี รวมระยะทาง 10,987 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่งเฉลี่ย 14–15 วัน
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ระบุว่า การศึกษาระบบรางประเทศในครั้งนี้จะช่วยให้การเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางของไทยให้เชื่อมต่อกับเส้นทางระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเร่งพัฒนาศักยภาพของสถานีรถไฟและลานสินค้า เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต อันจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคการขนส่งไทย และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประตูการค้าหลักของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต