ส่อพับแผน “ต่อขยายสายสีเหลือง”

07 ส.ค. 2564 | 07:00 น.
7.6 k

“คมนาคม” เผยไม่ได้รับหนังสือรฟม.ขอความเห็นสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ด้านบีทีเอสยันพื้นที่โครงการฯไม่ได้ทับซ้อน เชื่อหากทับซ้อนเส้นทางหมดสิทธิก่อสร้าง คาดรฟม.หวั่นกระทบชดเชยรายได้ BEM ฟากรฟม.เมินสร้างรถไฟฟ้า หลังเคลียร์ผลเจรจาไม่ลงตัว

กรณีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะทำหนังสือขอความคิดเห็นจากกระทรวงคมนาคมถึงเพื่อหาข้อสรุปถึงผลกระทบด้านรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายน้ำเงิน ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลืองแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ของบริษัทของบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนโดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บีทีเอส-ซิโนไทยฯ-ราชกรุ๊ป) เป็นผู้รับสัมปทาน นั้น 

 

นายศักดิ์สยามชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกระทรวงยังไม่เห็นหนังสือฉบับดังกล่าว เบื้องต้นต้องรอพิจารณารายละเอียดของสัญญาก่อนว่าเป็นอย่างไร

 

 

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่าโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลืองแยกรัชดา-ลาดพร้าว วงเงิน 3,779 ล้านบาท ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร (กม.) ถึงแยกรัชโยธิน ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เนื่องจากทางรฟม.ยังไม่ได้นัดเจรจาเพื่อแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมถึงเรื่องดังกล่าว

“กรณีที่รฟม.เล็งเห็นว่าโครงการดังกล่าวที่เราเสนอจะทับซ้อนพื้นที่กับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นและกลัวว่าจะเกิดข้อพิพาทเหมือนโครงการแข่งขัน ดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต กับทางด่วนอุดรรัถยา (บางปะอิน – ปากเกร็ด) นั้น เราเชื่อว่าโครงการส่วนต่อขยายสายสีเหลืองไม่ได้ทับซ้อนกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ เพราะไม่ได้ทับเส้นทางรถไฟฟ้า หากมีการทับซ้อนจริงก็ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของรฟม.เพราะบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM คงมองว่าอาจจะกระทบกับโครงการรถไฟฟ้าของเขาได้ ทั้งนี้ก็คงต้องพิจารณาให้รอบด้านเพราะมีทั้งผลดีและผลเสียอยู่แล้ว เนื่องจากโครงการฯ จะขยายออกไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว อาจจะทำให้ประชาชนที่ใช้บริการเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ทั้งนี้เราเชื่อว่าโครงการฯ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนแนวโน้มที่ได้ก่อสร้างหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับรฟม.เป็นผู้พิจารณา เพราะมีการระบุไว้ในสัญญาอยู่แล้ว”

 

ที่ผ่านมารายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า ความคืบหน้าผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธินที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.รับทราบผลการศึกษากรณีที่รฟม.ศึกษาผลกระทบด้านรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายน้ำเงิน ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลืองของบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนโดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บีทีเอส-ซิโนไทยฯ-ราชกรุ๊ป) เป็นผู้รับสัมปทาน

สำหรับผลการศึกษาพบว่าหากมีการเปิดให้บริการโครงการฯ ภายในปีแรกจะกระทบรายได้กับ BEM คิดเป็น 988 ล้านบาท และตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี คิดเป็น 2,700 ล้านบาท ขณะเดียวที่ประชุมได้มอบหมายให้รฟม.ทำหนังสือขอความคิดเห็นเพิ่มเติมจากกระทรวงคมนาคมเพื่อหาข้อสรุปประกอบการพิจารณา หากในกรณีที่ EBM ไม่ยอมรับเงื่อนไขการเจรจาชดเชยรายได้ให้กับ BEM หลังจากนั้นให้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการรฟม.ในครั้งถัดไป

 

“เรามองว่าตามแผนแม่บทในด้านการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าไม่ควรมีแนวเส้นทางทับซ้อนหรือแนวเส้นทางใกล้เคียงกันเกินไป เพราะอาจจะไม่เหมาะสมเหมือนกับกรณีข้อพิพาททางแข่งขัน ดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต กับทางด่วนอุดรรัถยา (บางปะอิน – ปากเกร็ด) ที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับเอกชนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ขณะเดียวกันหากการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเหลือง รฟม.ไม่ได้รับผลกระทบถือเป็นเรื่องดี เพราะเอกชนเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด แต่ถ้ามีการก่อสร้างแล้วพบว่า รฟม.ได้รับผลกระทบกระทบเอง อาจกลายเป็นคู่ความกับคู่สัญญาก็คงต้องชั่งน้ำหนักก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะไม่อยากเสียค่าโง่ในภายหลัง ทั้งนี้ถ้าเราไม่ก่อสร้างโครงการฯ ก็มองว่าโครงข่ายรถไฟฟ้าในไทยที่สมบูรณ์อยู่แล้ว”

 

ที่มา:หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ