thansettakij
มติรัฐสภาตีตกร่างกฎหมาย ป.ป.ช. โอนคดีทุจริตทหารไปศาลพลเรือน

มติรัฐสภาตีตกร่างกฎหมาย ป.ป.ช. โอนคดีทุจริตทหารไปศาลพลเรือน

17 มี.ค. 2568 | 05:22 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2568 | 05:48 น.

ที่ประชุมรัฐสภา มีมต 163 ต่อ 415 เสียง ไม่เห็นชอบร่างกฎหมายป.ป.ป.ช. กรณีโอนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในเขตอำนาจศาลทหาร ไปศาลอาญาคดีทุจริตฯ

วันนี้(17 มี.ค. 68) ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามกาารทุจริตแห่งชาติ (พ.ร.ป.ป.ป.ช.) ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาแล้วเสร็จ

ในการพิจารณาในวาระสอง พบว่า สมาชิกรัฐสภา ได้ถกเถียงถึงการแก้ไขของกมธ.เสียงข้างมากในมาตรา 4 ที่แก้ไขให้ในรายละเอียดของการให้คดีทุจริตและประพฤติมิชอบส่วนของกองทัพ ให้โอนอัยการสูงสุดไปดำเนินการ โดยได้ตัดส่วนของการดำเนินคดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบออกไป 

นอกจากนั้นได้เพิ่มวรรคสองขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้การดำเนินคดีในส่วนของบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร เป็นเจ้าหน้าที่กองทัพ กำหนดให้ศาลทหาร ยังมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี กับผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ไปพลางก่อน โดยให้อัยการสูงสุดเป็นอัยการทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร

โดย กมธ.เสียงข้างน้อยและสมาชิกรัฐสภา ทักท้วงว่า การแก้ไขเนื้อหาดังกล่าว เท่ากับการคงอำนาจให้ศาลทหาร มีอำนาจพิจารณาคดีของบุคลากรในกองทัพที่มีประเด็นทุจริต และประพฤติมิชอบ ซึ่งถือว่าขัดกับหลักการของการอำนวยความยุติธรรมสากล อีกทั้ง ในการกำหนดให้ศาลทหาร ยังมีอำนาจในการพิจารณาคดีไปพลางก่อนที่จะแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่า กับการประวิงเวลา

ขณะที่ นายณรงค์ ทับทิมไสย์ ตัวแทนสำนักงานศาลยุติธรรม ฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย อภิปราย ศาลยุติธรรมมีจุดยืนชัดเจน ที่ให้พิจารณาคดีทุจริตประพฤติมิชอบทุกประเภท ในศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อต้องการให้การพิจารณาคดีดังกล่าวบรรลุการค้นหาความจริงด้วยระบบไต่สวน แสวงหารวบรวมให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง พยานอย่างครบถ้วน รอบด้าน จะส่งผลให้การพิจารณาพิพากษาคดีมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เสมอภาค เป็นธรรม 

สอดคล้องกับหลักการสากล ที่ยอมรับร่วมกันให้บุคคลทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย ศาล เดียวกัน ภายใต้ข้อหาอย่างเดียวกัน คือ หากพลเรือนทำผิดต้องขึ้นศาลพลเรือน ที่เป็นกลาง ที่เป็นหลักความเสมอภาคของกฎหมายและอิสระของตุลาการ ที่นานาอารยประเทศยอมรับ

นายณรงค์ อภิปรายด้วยว่า เมื่อรัฐสภารับหลักการย่อมมีเจตนารมณ์ชัดเจนให้ กมธ.พิจารณาให้การดำเนินคดีทุจริตประพฤติมิชอบที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร อยู่ในอำนาจของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือศาลพลเรือน 

กรณีที่กมธ.เสียงข้างมาก ไม่ทำให้เกิดคความชัดเจนเพื่อให้ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ มีอำนาจพิจารณาคดีทุจริตผู้ถูกกล่าวหาในเขตอำนาจศาลทหาร ช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำให้ร่างกฎหมายไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้อยู่ในทิศทางของการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาล 

หากบัญญัติให้ชัดเจน เหมือนกับ พ.ร.บ.อุ้มหาย มาตรา 34 ที่ให้ศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบมีเขตอำนาจเหนือคดีความผิดทั้งหลาย ย่อมทำให้กฎหมายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนั้นชัดเจนและสร้างเจตจำนงค์ร่วมกันว่าให้กฎหมายเป็นไปทิศทางใด

“น่าเสียดายที่ร่างกฎหมายประชุมชั้นกมธ. 2 ครั้ง แต่ผมไม่ได้อยู่ด้วยเพราะติดราชการที่ต่างประเทศ จึงไม่ได้เสนอร่างแก้ไข ทั้งนี้ได้ขอสงวนความเห็นในเนื้อหา ทั้งนี้กมธ. เสียงข้างมาก บัญญัติไว้ถือว่าไม่มีความชัดเจน ทำให้เกิดความสับสนของผู้บังคับใช้กฎหมายเรื่องเขตอำนาจศาล และจำเลยใช้โต้แย้งเพื่อประวิงคดีได้ง่าย 

แต่หากบัญญัติให้ชัดเจนเช่นเดียวกัน พ.ร.บ. อุ้มหาย หรือแนวทางกมธ.เสีงข้างน้อย ทำให้กฎหมายที่จะเปลี่ยนแปลงมีผลบังคับใช้และไม่ถูกโต้แย้งได้ง่าแยละกฎหมายของประเทศก้าวหน้า” นายณรงค์ อภิปราย

ส่วน นายธงทอง นิพัทธรุจิ กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การแก้ไขกฎหมายเพื่อแก้ไขเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ต้องคำนึงถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 199 และพระธรรมนูญศาลทหาร อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น มีบทกำหนดให้ศาลทหารนำไปปฏิบัติ 

ดังนั้น วิธีการพิจารณาคดีทุจรติประพฤติมิชอบ ที่ออกตามพ.ร.ป.ป.ป.ช.ที่แก้ไข นั้นเป็นการดำเนินการก่อนชั้นศาล ที่รับรองเขตอำนาจศาลทหาร ดังนั้น มาตรา 4  ที่แก้ไข ให้โอนอำนาจศาลทหารที่ทหารกระทำความผิดตามคดีทุจริตประพฤติมิชอบไปยังศาลพลเรือน ภายหลังการยกเลิกมาตรา 3 ซึ่งยกเลิกมาตรา 96 ของ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2561

“การแก้ไขของกมธ.เสียงข้างมาก เป็นการกำหนดการก่อนชั้นศาลไม่ใช่ขั้นตอนในชั้นศาล ซึ่งขั้นตอนในชั้นศาลจะเป็นไปตามเขตอำนาจและวิธีพิจารณาคดีตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 199 กำหนดรวมถึงพระธรรมนูญศาลทหารกำหนด กรณีที่กมธ.เสียงข้างมาากให้ชะลอตัดอำนาจศาลทหารที่พิจารณาคีดที่ทหารทำผิดไว้ก่อน เป็นเรื่องถูกต้อง เพระการแก้ไขดังกล่าวต้องโยงกับการแก้ไขกฎหมายอื่น ที่อยู่นอกเหนือจาก พ.ร.ป.ป.ป.ช.” นายธงทอง ชี้แจง

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานกมธ. ชี้แจงว่า หลักการร่างกฎหมายที่รัฐสภารับไป  คือ ให้ยกเลิกอำนาจของอัยการสูงสุดที่ดำเนินคดีในศาลทหาร และเขียนบทรองรับให้โอนอำนาจศาลทหารในคดีอาญาทุจริตที่มีอยู่ก่อน พ.ร.ป.ใช้บังคับ โอนให้อัยการสูงสุดในศาลอาญาคดีทุจริตพิจารณา 

“ยอมรับว่ากมธ.เสียงข้างมากแก้ไขเนื้อหาตามหลักการ แต่ที่กมธ.พบคือ จะเป็นปัญหา  หากเห็นชอบโอนคดีให้อัยการสูงสุดทำในศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบจะปฏิบัติไม่ได้ เพราะแม้จะโอนคดีที่มีก่อนหน้าไปแล้ว แต่คดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะทำอย่างไร ซึ่งตัวแทนศาลยุติธรรมให้ความเห็นอย่างมีน้ำหนัก คือ มีปัญหาต่อการบังคับใช้ เพราะไม่มีบทบังคับที่รองรับเขตอำนาจในคดีที่อาจเกิดในอนาคต” 

อย่างไรก็ดี ในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภายังแสดงความเห็นโต้แย้งที่ กมธ.แก้ไขเนื้อหาของร่างกฎหมายที่หักล้างกับหลักการของร่างกฎหมายที่มติรัฐสภารับหลักการวาระแรก จึงต้องใช้การลงมติตัดสิน โดยพบว่า เสียงข้างมาก คือ 456  เสียงเห็นด้วยกับการแก้ไขของกมธ.เสียงข้างมาก ต่อเสียงไม่เห็นด้วย 6 เสียง และมีผู้งดออกเสียง  138 เสียง 

ทั้งนี้ เมื่อถึงการลงมติว่า จะเห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อย พบว่ามติเห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก เพียง 24 และเห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างน้อย  167 เสียง และมีผู้งดออกเสียง 410 เสียง

ทำให้เนื้อหาของมาตราดังกล่าว จึงถูกแก้ไขตามมติของรัฐสภา ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีบุคคลซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารในความผิดคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และบรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีของอัยการทหาร ตามมาตรา 96 ของพ.ร.ป.ป.ป.ช.พ.ศ.2561 ซึ่งบังคับใช้อยู่ก่อนวันที่ พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินการในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

จากนั้นได้เข้าสู่มาตรา 5 ซึ่งกมธ.เสียงข้างมากเพิ่มขึ้นใหม่ เพื่อให้อำนาจ ประธาน ป.ป.ช. รักษาการตามพ.ร.ป. ซึ่งมติของที่ประชุมเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มขึ้นใหม่

ต่อมาที่ประชุมรัฐสภา ได้ลงมติในวาระสาม ว่า จะเห็นชอบกับร่างพ.ร.ป.ทั้งฉบับหรือไม่ โดยมติของที่ประชุมพบว่า มีเสียงเห็นด้วย 163 เสียงไม่เห็นด้วย 415 เสียง และงดออกเสียง 12 เสียง ถือว่าร่างพ.ร.ป.ป.ป.ช. ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา