ACT เปิด 10 คดีใหญ่ ทุจริต อบจ.- รวยผิดปกติ รอบ 20 ปี คดีเงียบ-คนโกงรอด

09 ธ.ค. 2567 | 16:54 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2567 | 17:15 น.

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดข้อมูลจาก ACT Ai พบ 10 คดีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างใน อบจ. พบความเสียหายกว่า 377 ล้านบาท รวมทั้งคดีรวยผิดปกติ ชี้กระบวนการยุติธรรมล่าช้า คดีเงียบ คนโกงลอยนวล ซัด ป.ป.ช. คดีใหญ่ทำไมถึงน้อย

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดข้อมูล “10 ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง” ในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปี (พ.ศ.2547-2567)

พบจำนวนทุจริตน้อยกว่าที่สังคมรับรู้หรือมีการร้องเรียน ที่แย่กว่านั้นหลายคดีเงียบ ขณะที่คนทำผิดส่วนใหญ่กลับรอด เฉพาะ “10 ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง” ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น รวมมูลค่าความเสียหายประมาณการไม่น้อยกว่า 377 ล้านบาท 

 

โดยอดีตนายกอบจ. อุบลราชธานี กระทำทุจริตมากที่สุดถึง 42 คดี ขณะที่ อบจ.สงขลา ยังมีคดีทุจริตพัวพันอดีตนายก อบจ. มากกว่าจังหวัดใดในประเทศไทย

1.  ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง 42 คดี โดย อดีตนายก อบจ. อุบลราชธานี มูลค่าความเสียหาย 114 ล้านบาท 

2.  ทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพ โดยอดีตนายก อบจ.ปทุมธานี  มูลค่าความเสียหาย 3 ล้านบาท

ACT เปิด 10 คดีใหญ่ ทุจริต อบจ.- รวยผิดปกติ รอบ 20 ปี คดีเงียบ-คนโกงรอด

3.  ทุจริตจ้างเหมาขุดลอกลำน้ำ โดยอดีตนายก อบจ.ลำปาง มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

4.  ทุจริตเงินอุดหนุนสมาคมกีฬา โดยอดีตนายก อบจ. พิจิตร มูลค่าความเสียหายกว่า 15 ล้านบาท

5.  ทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายและหนังสือเรียน โดยอดีตนายก อบจ.กำแพงเพชร  มูลค่าความเสียหายกว่า 2 ล้านบาท

6.  ทุจริตจัดซื้อท่อระบายน้ำมิชอบ โดยอดีตนายก อบจ.พะเยา มูลค่าความเสียหาย 9.6 ล้านบาท

7.  ทุจริตทำถนน 6 โครงการ โดยอดีตนายก อบจ.นครราชสีมา มูลค่าความเสียหายกว่า 9 ล้านบาท

8.  ทุจริตเงินอุดหนุนวัด โดยอดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ  มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

9.  ทุจริต 5 กรณี โดยอดีตนายก อบจ.สงขลา  มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 18.6 ล้านบาท

10. ทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพ “แคร์เซ็ต” โดยอดีตนายก อบจ.ลำพูน มูลค่าความเสียหายเกือบ 6 ล้านบาท

นายมานะ นิมิตรมงคล  เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากผลโพลล์โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (2567) ระบุว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 95 รับรู้ว่ามีคอร์รัปชันโกงกินงบประมาณท้องถิ่นในอบจ.เป็นจำนวนเงินมหาศาล และตามสถิติของป.ป.ช. ยังพบว่า คอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างฯ เป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุด

เฉพาะปี 2566 ปีเดียวมีการร้องเรียนมากถึง 827 เรื่อง ไม่นับการร้องเรียนผ่านหน่วยงานอื่นๆ อีก ได้แก่ ป.ป.ท. สตง. ตำรวจสอบสวนกลางและศูนย์ดำรงธรรม อีกจำนวนหนึ่ง แต่ข้อมูลทุจริตจัดซื้อฯขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลับหายากมาก

นายมานะ นิมิตรมงคล  เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเลขคดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดหรือศาลตัดสินแล้วกลับพบน้อยมาก หากสืบค้นจากเวบไซต์ป.ป.ช. ในช่วงปี 2554 - 2563 พบข้อมูลแค่ 11 คดี จากนั้นไม่พบการอัพเดทข้อมูลอีกเลย  

นอกจากนั้น ยังพบอีกว่า ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มี “คดีร่ำรวยผิดปรกติ” น้อยมาก กล่าวคือ พบคดีร่ำรวยผิดปกติที่ศาลตัดสินยึดทรัพย์แล้ว 1 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอีกเพียง 2 คดีเท่านั้น ทั้งๆ ที่ระบบ ACT Ai (www.actai.co) แสดงข้อมูลการยื่นบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองต่อ ป.ป.ช. พบว่า นายก อบจ. หลายคนมีทรัพย์สินเป็นพันล้านบาท

และนายก อบจ. จำนวนมากรวยเกินร้อยล้านบาท ไม่นับรวมความมั่งคั่งของคนในครอบครัว “ตัวเลขอย่างนี้ ผมขอชวนประชาชนช่วยกันถาม ป.ป.ช.และมหาดไทย ว่าพวกท่านคิดอย่างไร สงสัยบ้างไหมว่าทำไมคนไทยทั้งประเทศรู้ว่ามีคอร์รัปชัน แต่พวกท่านไม่รู้จริงหรือ?

ทั้งหมดคือความจริงที่ต้องย้ำให้คนไทยตระหนักว่า หากเราปล่อยให้พวกคดโกงชนะการเลือกตั้งครั้งใหญ่ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะเกิดวิกฤตใหญ่ตามมาอย่างไร” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวและว่า เมื่อดูจากเรื่องที่สังคมรับรู้และคดีที่มีคนร้องเรียนในแต่ละปี ฟันธงเลยว่า ส่วนใหญ่รอดและหลายคดีเงียบ

เกี่ยวกับลักษณะการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างในอบจ.เฉพาะ 10 ทุจริตที่องค์กรฯ ค้นพบและเผยแพร่นี้ https://bit.ly/3ZpCOPC สะท้อนให้เห็นความหลากหลายกลโกงในการจัดซื้อฯ มีทั้งให้บริษัทพรรคพวกหรือคนในครอบครัวมารับงาน มีการทำเอกสารเท็จ ปกปิดข้อมูล ไม่เปิดประมูลทั่วไปแต่เน้นใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ฮั้วประมูล อบจ.เองบริหารสัญญาจนรัฐเสียเปรียบ ฯลฯ 

“ถ้ามองในแง่ของกระบวนการยุติธรรมสะท้อนให้เห็นว่า การพิจารณาคดีคอร์รัปชันใช้เวลานานมาก แม้ศาลตัดสินว่าผิดจริงก็ลงโทษเบา รอลงอาญาก็มาก และเกือบทั้งหมดไม่ยึดทรัพย์คนโกง”

ถามว่า มองเห็นทางออกของการตัดห่วงโซ่คอร์รัปชันฯระหว่างนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ นักธุรกิจฮั้วประมูลหรือทุจริตจัดซื้อจัดจ้างฯ ได้หรือไม่ ? เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ บอกว่า ทำได้แต่ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะทุกกลโกงย่อมมีช่องโหว่ โดยยกตัวอย่างกรณี “กำนันนก นครปฐม” ประมูลงานรัฐได้กว่าหมื่นล้านบาทด้วยเพราะมีเครือข่ายใหญ่ มีบ้านใหญ่หนุนหลัง ดังนั้น หน่วยงานรัฐอย่าง “ปปง.” ต้องสอบเส้นทางการเงิน แล้วร่วมมือกับหน่วยงานด้านภาษี ทั้ง สรรพากร สรรพากร ศุลกากร เชิญชวนมาร่วมตรวจสอบตัดวงจรเอกชนทุกรายที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ผู้รับเหมาช่วง ไปตรวจการเสียภาษีรายได้ ภาษีการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ใครออกใครใช้ใบเสร็จปลอม การซื้อขายวัตถุดิบ การสต็อกสินค้า การส่งออกนำเข้าสินค้า จำนวนลูกจ้าง เป็นต้น

ขณะที่ตัวอบจ.เอง หากมีเจตนารมณ์ดีในการดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชน สามารถบริหารงบประมาณแบบเน้นการมีส่วนร่วมกับประชาชนและมีการเปิดเผยข้อมูลให้ทุกคนเข้าถึงได้ หรือที่เรียกว่า กระบวนการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) เป็นต้นว่า แผนการจัดทำโครงการลงทุนของ อบจ. จะทำอะไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ต้องให้ประชาชนรู้และร่วมตัดสินใจว่าอะไรเกิดประโยชน์ร่วมกัน อะไรฟุ่มเฟือย  จะต้องมีการเผยแพร่งบประมาณประจำปี จากนั้นทุก 6 เดือนก็กลับมารายงานว่าทำอะไร ใช้เงินไปจำนวนมากน้อยแค่ไหน

“สำคัญที่สุดคือ ประชาชนต้องร่วมปกป้องผลประโยชน์ของท้องถิ่น สอดส่องสิ่งผิดปกติ และอย่าเลือกคนซื้อเสียงให้เขากลับมาถอนทุนคืน” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว