“วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย)" ตรงกับวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี ในปีนี้ รัฐบาลร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช., สำนักงาน ป.ป.ท., องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐ รัฐวิสากิจ เอกชน ภาคประชาชน จัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้แนวคิด "FIGHT AGAINST CORRUPTION สู้ให้สุด หยุดการโกง" เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริต พร้อมสร้างกระแสสังคมที่ไม่ยอมรับการทุจริตในทุกรูปแบบ รวมถึงการยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยให้สูงขึ้น
ในงานครั้งนี้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายให้แทนนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปราบปรามการทุจริตในทุกมิติ
"การทุจริตคือปัญหาเรื้อรังของประเทศไทย" นายชูศักดิ์กล่าว พร้อมระบุว่าปัญหาการทุจริตที่สะสมมายาวนานได้สร้างผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมถึงทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตานานาชาติ
รมต.ประจำสำนักนายกฯ ระบุด้วยว่า ผลการประเมินค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 35-36 จาก 100 คะแนน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยรัฐบาลปัจจุบันได้กำหนดให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ (2561-2580) และแผนแม่บทต่อต้านการทุจริต
"ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมคือกุญแจสำคัญ" นายชูศักดิ์ย้ำว่า รัฐบาลมุ่งมั่นในการส่งเสริมความโปร่งใส โดยผลักดันการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างช่องทางใหม่ในการแจ้งเบาะแส รวมถึงการพัฒนาความเข้มแข็งของกระบวนการยุติธรรมในการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต
"ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน" เขายังเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริต เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม พร้อมตั้งเป้ายกระดับคะแนน CPI ให้เกิน 50 คะแนนในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า
นายวิทยา อาคมพิทักษ์ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานป.ป.ช. ได้กล่าวในพิธีเปิดว่า การจัดงานในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลกในการต่อต้านการทุจริต ภายใต้การเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC)
การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่ 1.การประกาศเจตจำนงของผู้นำทุกภาคส่วนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2.การสร้างวัฒนธรรมสังคมไทยที่ปฏิเสธการทุจริตในทุกรูปแบบ 3.การยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาทุจริต
"การปราบปรามการทุจริตไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นภารกิจของคนไทยทุกคน" นายวิทยากล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความโปร่งใสในทุกกระบวนการเพื่อสร้างสังคมที่มั่นคงและยั่งยืน
องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล" (International Anti-Corruption Day) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 191 ประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC) ตั้งแต่ปี 2546
การจัดงานเกิดขึ้นทุกปี และได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย เพื่อผสานพลังคนไทยทุกภาคส่วนให้ร่วมกันต่อสู้กับการทุจริตในทุกรูปแบบ