KEY
POINTS
ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2567 โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีการพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ วาระประจำปี 2567 ระดับ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ผู้ช่วย ผบ.ตร. ถึง ผู้บัญชาการ (ผบช.) จำนวน 41 ตำแหน่ง
โดยตำแหน่งที่ถูกโฟกัสมากเป็นพิเศษ คือ ตำแหน่ง “ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล” (ผบช.น.) ที่เกิดการพลิกโผ จากเดิม มีชื่อ พล.ต.ท.สันติ ชัยนิรามัย จเรตำรวจ (สบ 8) นรต.รุ่น 48 สายตรง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีต รองผบ.ตร. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีต ผบ.ตร. ที่จะได้โยกมาเป็น ผบชน. แทน พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ที่เลื่อนขึ้นไปเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร.
แต่แล้ว ก.ตร. กลับเห็นชอบให้ พล.ต.ท.สยาม บุญสม จเรตำรวจ (สบ 8) นรต.รุ่น 46 โยกมาดำรงตำแหน่ง ผบช.น. แทน ซึ่งเป็นตำแหน่งในระนาบเดียวกัน
สำหรับตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในวงการตำรวจเรียกว่า "ผบ.ตร.น้อย" เจ้าของรหัส “น.1” รับผิดชอบคุมพื้นที่เมืองหลวง กรุงเทพมหนคร
หรือ หากจะเรียกว่าเป็น “ผู้การเมืองหลวง” ก็ว่าได้
พล.ต.ท.สยาม บุญสม เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 46 (นรต.46) การได้รับเลือกให้โยกมานั่งในตำแหน่ง “ผบช.น.” ครั้งนี้ ถือว่าเป็น “ม้ามืด” ชนิดไม่มีปี่มีขลุ่ยมาก่อน
พล.ต.ท.สยาม บุญสม ถือเป็นนายตำรวจที่มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญรอบรู้ชำนาญการในพื้นที่เมืองหลวงเป็นอย่างดี เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่ง รอง ผบช.น. รับผิดชอบปฏิบัติภารกิจด้านกิจการพิเศษ โดยไม่ขาดตกบกพร่อง
เมื่อครั้งครองยศ "พลตำรวจตรี” พล.ต.ท.สยาม เคยเป็นผู้บังคับการคนแรก ของกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 และ เคยดำรงตำแหน่งเป็น ผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ในช่วงปี 2562–2564
ขณะที่เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศ โดยปรากฏชื่อของ พล.ต.ต.สยาม เป็นหนึ่งใน 25 นายตำรวจราชองครักษ์ด้วย
สำหรับ “กองบัญชาการตำรวจนครบาล” ได้รับการสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2465 ตามรากฐานที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ทรงเป็นผู้ปรับปรุงและจัดระเบียบกิจการตำรวจ
และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คนแรก
ปัจจุบัน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นหน่วยงานอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในเขตกรุงเทพมหานคร มีกองบังคับการทั้งหมด 15 กองบังคับการ และ 1 กองกำกับการที่ขึ้นตรงผู้บัญชาการ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ประกอบด้วย
กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.อก.บช.น.)
กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.สส.บช.น.)
กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1)
กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 (บก.น.2)
กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 (บก.น.3)
กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 (บก.น.4)
กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 (บก.น.5)
กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 (บก.น.6)
กองบังคับการตำรวจนครบาล 7 (บก.น.7)
กองบังคับการตำรวจนครบาล 8 (บก.น.8)
กองบังคับการตำรวจนครบาล 9 (บก.น.9)
กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.)
กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (บก.สปพ.)
อรินทราช 26
กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.)
ศูนย์ฝึกอบรม กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศฝร.บช.น.)
กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการ)
หาก พล.ต.ท.สยาม บุญสม ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง จะถือเป็น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คนที่ 53 ต่อจาก พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง