กกต.เปิดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม เอกสาร ผู้สมัครเลือกตั้ง นายก อบจ.-ส.อบจ.

19 พ.ย. 2567 | 12:01 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2567 | 12:30 น.

กกต.เปิดคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น “นายก อบจ.” และ “ส.อบจ.” การเตรียมตัวต้องใช้เอกสารหลักฐานอะไรบ้าง ขณะที่ค่าธรรมเนียมสมัคร ส.อบจ. 2,000 บาท สมัครนายก อบจ. 30,000 บาท สมัคร 23 – 27 ธ.ค. วันเลือกตั้งเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568

วันที่ 19 พ.ย. 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม เอกสารหลักฐาน และค่าธรรมเนียมของผู้ที่มีความประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) 

ด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เห็นชอบแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยจะประกาศวันรับสมัครรับเลือกตั้งระหว่างวันที่ 23 – 27 ธันวาคม 2567 และกำหนดวันเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงขอประชาสัมพันธ์คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เอกสารหลักฐาน และค่าธรรมเนียมของผู้ที่มีความประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังนี้

1. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

1.1 มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

1.2 ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง สำหรับผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง

1.3 มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง

ในวันสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

1.4 วุฒิการศึกษา

ผู้สมัครสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ไม่ได้กำหนดวุฒิการศึกษา

ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา

2. ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

2.1 ติดยาเสพติดให้โทษ

2.2 เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

2.3 เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

2.4 เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 39 (1) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช (2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ หรือ (4) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

2.5 อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

2.6 ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
2.7 เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

2.8 เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

2.9 เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

2.10 เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

2.11 เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

2.12 เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ

2.13 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

2.14 เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

2.15 เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

2.16 อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

2.17 เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

2.18 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ไม่ว่าจะได้รับโทษหรือไม่ โดยได้พ้นโทษหรือต้องคำพิพากษามายังไม่ถึง 5 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี

2.19 เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี มายังไม่ถึง 5 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง

2.20 อยู่ในระหว่างถูกจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 หรือตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2.21 เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกัน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น

2.22 เคยพ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรง หรือ ทางอ้อมในสัญญา หรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับ หรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อมในสัญญา หรือกิจการที่กระทำกับหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทน หรือเอื้อประโยชน์ส่วนตนระหว่างกัน และยังไม่พ้น 5 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง

2.23 เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ หรือมติคณะรัฐมนตรี อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และยังไม่พ้น 5 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง

2.24 เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจ หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยหน้าที่และอำนาจ

หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแก่ราชการ และยังไม่พ้น 5 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง

2.25 ลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำหนด

                           กกต.เปิดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม เอกสาร ผู้สมัครเลือกตั้ง นายก อบจ.-ส.อบจ.

3. การสมัครรับเลือกตั้ง

ให้ผู้สมัครยื่นใบสมัครต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัด พร้อมทั้งหลักฐานการสมัครและค่าธรรมเนียมการสมัคร ดังนี้

3.1 หลักฐานและเอกสารประกอบการยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง

(1) ใบสมัครรับเลือกตั้ง ตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 4/1

(2) บัตรประจำตัวประชาชน แต่ถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นบุคคลซึ่งไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมาย ให้ใช้บัตรประจำตัวหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายและมีหมายเลขประจำตัวประชาชนสามารถแสดงตนได้ พร้อมสำเนา จำนวน 1 ฉบับ

(3) สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน พร้อมสำเนา จำนวน 1 ฉบับ

(4) ใบรับรองแพทย์

(5) รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก หรือรูปภาพที่พิมพ์ชัดเจนเหมือนรูปถ่ายของตนเอง ขนาดกว้างประมาณ 8.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13.5 เซนติเมตร ตามจำนวนที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำหนด

(6) หลักฐานอื่นที่ผู้สมัครนำมาแสดงว่าตนเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เช่น เอกสารการเปลี่ยนชื่อตัว – ชื่อสกุล

เอกสารการลาออกจากราชการ ในกรณีที่เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และ

หลักฐานการศึกษา สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือหลักฐานรับรองว่าเคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา (สำหรับผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด)

(7) หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี นับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร (ปี 2564, 2565, 2566) เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี ตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 4/2

3.2 ค่าธรรมเนียมการสมัคร

(1) สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 2,000 บาท

(2) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 30,000 บาท

อนึ่ง การสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัคร มีโทษตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 กำหนดว่า ผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 หรือทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th

และสามารถขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด หรือบริการสายด่วน 1444 หรือ Application Smart Vote