วันนี้ (19 ก.ย. 67) ที่โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จัดการประชุมระหว่างประเทศภายใต้กรอบการดำเนินการของสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย ระหว่างวันที่ 17-21 กันยายน 2567
โดยในช่วงเช้า นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และในฐานะประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสมาชิกสมาคม หรือ BoMM ที่มีสมาชิก 21 ประเทศ เข้าร่วมประชุม
นายนครินทร์ กล่าวว่า ขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งจะถือว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งใหักับความสัมพันธ์ของสมาชิกสมาคม และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในระหว่างการประชุม และจะมีการลงนามร่วมกันในร่างปฎิญญากรุงเทพ ที่จะเป็นการแสดงผลลัพธ์ในการเชิดชูหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งการประชุมใน 2 วันนี้ จะปูทางไปสู่ความร่วมมือที่แนบแน่นมากขึ้นในอนาคตและเป็นหัวใจสำคัญของสมาคมของเรา
สำหรับพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเริ่มในช่วงบ่ายวันนี้ ซึ่งในการประชุมได้กำหนดหัวข้อหลักคือ "ศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าในการเสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมที่ยั่งยืน" และมีหัวข้อย่อย 3 หัวข้อ คือ
"บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าในการเสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมที่ยั่งยืน" โดยมีนายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นประธานร่วมในการประชุม
หัวข้อ "พัฒนาการของกระบวนการยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อความยุติธรรมที่ยั่งยืนในโลกที่เปลี่ยนแปลง" โดยนายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นประธานร่วมในการประชุม
และหัวข้อ "ความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญในฐานะรากฐานของการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน" โดยมี นายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นประธานร่วมในการประชุม
ศาลรัฐธรรมนูญไทย ในฐานะประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 6 ซึ่งจะเป็นการประชุมวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญระดับนานาชาติครั้งสำคัญ
และภายหลังการประชุมจะมีพิธีลงนามจากคณะกรรมการสมาชิกในการประชุม และออกแถลงการณ์ร่วม ในการจัดทำปฏิญญากรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่เด่นชัดในการเป็นผู้นำการพัฒนาทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญไทยในเวทีระหว่างประเทศ
การประชุมครั้งนี้ ยังจะเป็นเวทีทางวิชาการในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น คำวินิจฉัย และประเด็นข้อกฎหมายระหว่างศาลรัฐธรรมนูญไทยกับศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ หรือ องค์กรตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนางานของศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชียต่อไปในอนาคต