3 ปรากฏการณ์ สิงหาฯ 2567 การเมืองไคลแม็กซ์

01 ส.ค. 2567 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2567 | 15:20 น.
695

3 ปรากฏการณ์ สิงหาฯ 2567 การเมืองไคลแม็กซ์ : รายงานพิเศษ โดย…ทีมข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4014 หน้า 12

KEY

POINTS

  • ในเดือนสิงหาคมนี้ มีปรากฏการณ์ทางการเมือง 3 เรื่องที่น่าจับตา ทั้ง คดียุบพรรคก้าวไกล คดีถอดถอนนายกฯ และ การพ้นโทษของ“ทักษิณ ชินวัตร”

 

  • คดียุบพรรคก้าวไกล ศาลนัดตัดสิน 7 ส.ค.นี้ คาดการณ์กันว่าไม่น่ารอด เนื่องจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็น“สารตั้งต้น”ที่จะนำไปสู่การยุบพรรคอยู่แล้ว  

 

  • คดีถอดถอนนายกฯ ศาลนัดตัดสิน 14 ส.ค. เชื่อว่าน่าจะ “รอด” อันจะส่งผลรัฐบาลภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” ได้ไปต่อ ไม่เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง 
     

ในช่วงเดือน สิงหาคม 2567 นี้ มีปรากฏการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจ อยู่ 3 เรื่อง ที่เดินทางถึงจุด “ไคลแม็กซ์” โดย 2 เรื่องเป็นการ “ตัดสินคดี” อันจะทำให้เห็นอนาคตทางการเมืองของผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคนว่า จะ “ได้ไปต่อ” หรือ “ต้องเว้นวรรค”ทางการเมือง

และอีกเรื่องที่น่าจับตาคือ บทบาทของ ทักษิณ ชินวัตร หลังพ้นโทษ ว่าจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือสนับสนุนการบริหารงานของรัฐบาล และมีบทบาททางการเมืองมากน้อยแค่ไหน 

เริ่มกันที่เรื่องแรก เป็นเรื่องที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้นัดวินิจฉัยชี้ชะตา “พรรคก้าวไกล” ในวันพุธที่ 7 ส.ค.นี้ ว่าจะ “ยุบ-ไม่ยุบ” พรรค

คดีนี้นับตั้งแต่ศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2567 จนถึงวันนัดตัดสิน คือ 7 ส.ค. 2567 รวมระยะเวลาได้ 127 วัน

ตามคำขอของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และยังขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่ง กก.บห. และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็น กก.บห.พรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง  

อันเกิดจากมีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567  

โดยศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 7 ส.ค. 2567 เวลา 09.30 น. นัดฟังคำวินิจฉัย เวลา 15.00 น. ณ ห้องพิจารณา

คาด“ก้าวไกล”ไม่น่ารอด

สำหรับความเป็นไปได้ในผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะออกมาในวันที่ 7 ส.ค.นี้ นั้น มี 2 แนวทางคือ

1.ไม่ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่ามีพฤติการณ์ตามที่กล่าวหาจริง

2.ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากปรากฏพยานหลักฐานบ่งชี้ หรือเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา พร้อมกับตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

คดียุบพรรคก้าวไกลนี้ นักวิเคราะห์การเมืองส่วนใหญ่ คาดการณ์กันว่า “ไม่น่ารอด” เนื่องจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 เป็น “สารตั้งต้น” ที่จะนำไปสู่การยุบพรรคอยู่แล้ว  

ทั้งนี้หาก “ก้าวไกล” ถูกยุบพรรคจริง จะทำให้แกนนำหลักๆ ของพรรค ที่เป็น กก.บห.รวม 11 คน  โดยเฉพาะ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ขณะนั้น ถูกตัดสิทธิ์การเมืองต้องเว้นวรรคเป็นเวลา 10 ปี 

ผลกระทบที่จะตามมาอีกคือ จะเป็น “สารตั้งต้น” ให้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดจริยธรรมร้ายแรง นายพิธา และ ส.ส.พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ที่ร่วมลงชื่อยื่นร่างแก้ไขกฎหมาย ม.112 เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 ซึ่งขณะนี้มีคำร้องคาอยู่ที่ ป.ป.ช.แล้ว  

โดยโทษตามความผิดจริยธรรมร้ายแรงคือ ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี และ ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตลอดไป

                           3 ปรากฏการณ์ สิงหาฯ 2567 การเมืองไคลแม็กซ์

+คาด“เศรษฐา”รอด

คดีที่สอง ทั้ง “รัฐบาล-ภาคธุรกิจ-ประชาชนทั่วไป” รอลุ้นด้วยใจระทึก ก็คือ สถานะของ เศรษฐา ทวีสิน ว่าจะยัง “ได้ไปต่อ” ในตำแหน่งนายกฯ คนที่  30 หรือไม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญนัดตัดสินชี้ชะตาในวันพุธที่ 14 ส.ค. 2567 นี้ เวลา 15.00 น.

คดีดังกล่าวสมาชิกวุฒิสภา 40 คน ยื่นคำร้องผ่านประธานวุฒิสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า กรณี นายเศรษฐา ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า พิชิต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 

เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ 

คดีนี้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” รับคำร้องเฉพาะในส่วนของ “เศรษฐา” ไว้วินิจฉัย เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ 

หากนับจากวันที่ศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย จนถึงวันที่ศาลนัดตัดสินคือ 14 ส.ค. 2567 รวมระยะเวลาดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาล ใช้เวลา 84 วัน

กรณีของ เศรษฐา ทวีสิน หากให้ฟังธงก็เชื่อว่าน่าจะ “รอด” เพราะดูจากกรณีที่ศาล แม้จะมีมติให้ “รับคำร้อง” ไว้พิจารณาวินิจฉัย แต่ศาลก็มีมติ 5 ต่อ 4 ไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ดังนั้น ก็เชื่อว่ามติศาลที่จะออกมา น่าจะส่งผลดีต่อนายกฯ มากกว่าผลเสีย

คดีนี้ ถ้า “เศรษฐา” ได้ไปต่อ จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ความตึงเครียดให้กับรัฐบาลได้พอสมควร

แต่ถ้า “เศรษฐา” หลุดจากตำหน่งนายกฯ คนที่ 30 จะส่งผลให้ “ครม.” ไปทั้งคณะ ต้องเลือกนายกฯ กันใหม่ในสภาฯ แรงกระเพื่อมทางการเมือง ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

จับตา“ทักษิณ”หลังพ้นโทษ 

อีกเรื่องที่น่าจับตา คือ กรณีของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่จะพ้นโทษ ในวันที่ 20 ส.ค. 2567 นี้ ยกเว้นเสียแต่ว่าได้รับ “อาสิงส์” จากการพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ก็อาจ “พ้นโทษ” ก่อนครบกำหนดเดิม

เมื่อ “ทักษิณ” พ้นโทษ ก็ถือเป็นประชาชนธรรมดา ที่สามารถเข้ามาช่วย “รัฐบาลเศรษฐา” ในการให้คำแนะนำในการบริหารประเทศชาติได้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่เจ้าตัวก็มีความเป็นห่วงเป็นใยอยู่

ขณะเดียวกัน ต้องจับตาบทบาทในทางการเมือง ว่าจะทำให้ “พรรคเพื่อไทย” เข้มแข็งขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งในอีกราว 3 ปีข้างหน้า ที่ต้องแย่งชิงบัลลังก์แชมป์เลือกตั้ง ส.ส. จาก “พรรคสีส้ม” คืนมาให้ได้

อย่างไรก็ตาม “ทักษิณ” ยังมีคดีติดตัวอยู่อีก 1 คดี คือ คดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ศาลอาญารับคดีจากสำนักงานอัยการสูงสุด ไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดี วันที่ 19 ส.ค.นี้ 

ปรากฏการณ์ทางการเมืองทั้ง 3 กรณีที่เกิดขึ้น จะมีความชัดเจน แจ่มแจ้ง ในเดือนสิงหาคมนี้ มารอลุ้นกัน...