กกต.แถลงปล่อยผีรับรอง 200 สว. สอยกลุ่มสื่อ 1 คน เลื่อนตัวสำรองเสียบแทน

10 ก.ค. 2567 | 17:38 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2567 | 17:53 น.

กกต.ปล่อยผี สว. 200 คน และสำรอง 99 คน สอยแค่ 1 คน "คอดียะฮ์ ทรงงาม" เหตุขาดคุณสมบัติ เป็นที่ปรึกษานายก อบจ.อ่างทอง เลื่อนตัวสำรองเสียบแทน “แสวง”รับฮั้ว-บล็อกโหวตเป็นขบวนการ ประสาน ตำรวจ-ดีเอไอ-ปปง.สอบ

วันที่ 10 ก.ค. 2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงประกาศรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.)  200 คน และบัญชีสำรอง 100 คน ว่า หลังจากวันที่ 3 ก.ค. กกตสามารถประกาศรับรองผลได้ แต่มาตรา 42 พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 กำหนดเงื่อนไขว่า

การดำเนินการเลือกต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม ไม่มีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งมี 3 เงื่อนไข ที่กกต.ต้องพิจารณาคือ 
1.มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.หรือไม่ สำนักงานกกต.ได้รวบรวมกลุ่มความผิด ที่อาจจะนำมาพิจารณาเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการประกาศผลการเลือก สว. ครั้งนี้คือ

1. คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม หมายรวมถึงการสมัครลงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งด้วย 2. กระบวนการในการดำเนินการเลือก ในวันที่ 9 วันที่ 16 และวันที่ 26 มิ.ย. 3. ความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อันเกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งสังคมจะใช้กันว่าการจัดตั้ง บล็อกโหวต หรือฮั้ว 
กรณีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามห้ามมี 3 เรื่องคือ มีผู้สมัครที่สนใจมาสมัครช่วงเปิดรับสมัคร 5 วันจำนวน 48,117 คน ผอ.ระดับอำเภอได้ ตรวจสอบคุณสมบัติ และไม่รับสมัครไป 1,917 คน เมื่อรับสมัครไปแล้ว ก็ได้ลบชื่อก่อนการเลือกระดับอำเภออีก 526 คน 

ก่อนผ่านชั้นจังหวัดก็ได้ลบผู้มีสิทธิ์เลือกไปอีก 87 คน และผ่านมาระดับประเทศผอ.ระดับประเทศก็ลดไปอีก 5 คน รวมแล้วมีการตรวจสอบและคัดคนที่ไม่มีคุณสมบัติในลักษณะต้องห้ามออกไป 2,000 เกือบ 3,000 คน 

กกต. มีมติระงับสิทธิสมัครชั่วคราว หรือให้ใบส้ม เรื่องคุณสมบัติตามมาตรา 20 วรรค 3 วรรค 4 ระงับสิทธิ์สมัครชั่วคราว จำนวน 89 ใบ รวมทั้งส่งให้ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งด้วย อีก 1 คน  เนื่องจากเข้าได้เข้าสู่กระบวนการเลือกแล้ว จึงเป็นผู้มีส่วนทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนระดับอำเภอที่ลบไป 500 กว่าคน ไม่ได้ให้ใบส้ม เพราะยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการเลือกระดับอำเภอ แต่จะพิจารณาว่า รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัครแต่ยังลงสมัครรับเลือก ซึ่งถือเป็นคดีอาญา

ทั้งนี้เรื่องร้องเรียนดังกล่าวคิดเป็น 65% หรือราวๆ 600 กว่าเรื่อง จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ที่มาเข้ามาจนถึงขณะนี้ประมาณ 800 กว่าเรื่องโดยเป็นทั้งความปรากฏ ผู้สมัครมาร้องเอง และที่กกต.การลบชื่อออก ดังนั้นเหลืออยู่ราวๆ  200 เรื่อง ที่ต้องพิจารณา   

ส่วนกรณีการสมัครไม่ตรงกลุ่ม ที่ถูกวิจารณ์ว่าคนแบบนี้ไปอยู่กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ได้อย่างไร สังคมอาจเข้าใจยังไม่ตรงมาก เพราะเวลาพูดถึงกลุ่มอาชีพ ซึ่งตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ และ คำว่ากลุ่มตามมาตรา 11 ของพ.ร.ป.การได้มาซึ่งสว. 2561ไม่มีกลุ่มอาชีพ แต่เป็น “กลุ่มของด้าน” ทั้ง 20 ด้าน ในแต่ละด้านจะมีอาชีพเป็นส่วนหนึ่งของคนประเภทหนึ่ง มีคน 6 ประเภท ที่สามารถเป็นผู้สมัครได้ ไม่ใช่แค่อาชีพอย่างเดียว 

1. คือมีความรู้ในด้านนั้น 2. มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น 3. มีอาชีพในด้านนั้น 4.มีประสบการณ์ด้านนั้น 5.มีลักษณะและประโยชน์ร่วมกัน และ6. ทำงานหรือเคยทำงานร่วมกัน ซึ่งกฎหมายเปิดกว้างให้คนสมัครด้านใดด้านหนึ่งได้ และมีผู้รับรอง 1 คน 

นายแสวง กล่าวต่อว่า 2.ความผิดในการดำเนินการในวันเลือก คือวันที่ 9 วันที่ 16 และวันที่ 26 มิ.ย. มีสำนวนมาร้อง 3 สำนวน กกต.พิจารณาเสร็จแล้ว และมีสำนวนที่ไปร้องศาลฎีกา 18  คดี ตามมาตรา 44 ศาลฎีกาได้ยกคำร้องทุกคดี แล้ว 

และส่วนที่ 3 การเลือกไม่สุจริตและเที่ยงธรรม  มือถือสังคมเรียกว่าการจัดตั้งการถือว่าการบล็อคโหวต ตอนนี้มีอยู่ 47 เรื่อง สำนักงานฯ ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ได้มาพอสมควร ลักษณะที่รวบรวมได้พบว่า เป็นขบวนการที่ต้องอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน

จึงขอความร่วมมือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ส่งเจ้าหน้าที่ 23 นาย มาช่วยตรวจสอบ  โดยจะใช้เทคนิคอุปกรณ์มาตรวจสอบความเชื่อมโยง ของผู้สมัคร หรือคนอยู่เบื้องหลัง เพื่อนำเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา เรื่องการกระทำที่อาจจะทำให้การเลือกไม่สุจริต 

“เมื่อดำเนินการมาถึงขั้นนี้ทั้ง 3 กลุ่มความผิด กระบวนการเลือกตั้ง 3 ระดับจบหมดแล้ว ไม่มีคดีค้างที่ศาล ถือว่าการเลือกเป็นไปโดยชอบ ในส่วนของความไม่สุจริต และเที่ยงธรรม เมื่อมีคำร้อง สำนักงาน กกต. ได้รับเป็นสำนวนเอาไว้  แต่ข้อมูล ณ วันนี้ยังไม่พอเพียง ที่จะบอกว่าเขากระทำความผิด ต้องไปรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงตามที่กฎหมายกำหนด ชั้นนี้จึงไม่สามารถบอกได้ว่าการเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม 

                            แสวง บุญมี เลขาฯ กกต. แถลงมติ กกต.ที่ประกาศรับรอง สว. 200 คน และตัวสำรอง 99 คน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กกต.จึงพิจารณาแล้วเห็นว่า การเลือกสว. เป็นไปด้วยความสุจริตที่ยงธรรม จึงมีมติประกาศผลการเลือกสว.ของแต่ละกลุ่ม ทั้ง 20 กลุ่ม ลำดับที่ 1 ถึง 10 ของแต่ละกลุ่ม เป็น สว. ส่วนลำดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่มเป็นบัญชีสำรอง 

ยกเว้นกลุ่มที่ 18 ซึ่งกกต. ให้ใบส้มผู้ได้รับเลือก 1 คน ซึ่งอยู่ในลำดับ ที่ 1-10 จึงต้องเลื่อนสำรองลำดับที่ 11 ขึ้นมาแทน ทำให้เหลือสำกลุ่มนี้แค่ 4 คน ดังนั้น กกต.รับรองครบ 200 คน และบัญชีสำรอง 99 คน เรียบร้อยเพื่อให้เปิดสภาได้โดย สว.ทั้ง 200 คนสามารถมารับหนังสือรับรองการเป็นสว. เพื่อเป็นหลักฐานในการรายงานตัวกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาตั้งแต่วันที่ 11-12 ก.ค.เวลา 8:30 -16:30 น.ที่สำนักงานกกต.

ทั้งนี้ นายแสวง ยืนยันว่า การประกาศไปก่อนแล้วมาสอยทีหลัง เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 226 และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว.มาตรา 62 ส่วนที่ได้ใบส้มไป 1 คน จนต้องเลื่อนสำรองมาแทน เพราะพบความผิดชัดเจนในเรื่องของคุณสมบัติ

เมื่อถามว่า การที่กกต.ประกาศบัญชีสำรอง 99 คน จะขัดกับกฎหมายที่ให้กกต.ต้องประกาศบัญชีสว. 200 คน และบัญชีสำรอง 100 คน หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ก็ทำไปแล้ว ซึ่งตามพ.ร.ป.การได้มาซึ่งสว.มาตรา 42 ไม่ได้เขียนกรณีดังกล่าวไว้ แต่กกต.มาออกระเบียบกกต.ว่าด้วยการเลือกสว. ฉบับที่ 3 ข้อ 154/1 ให้กกต.สามารถเลื่อนบัญชีสำรองขึ้นมาแทนได้ 

เมื่อถามว่าทำไม่ไม่รับรองไปก่อนแล้วค่อยมาสอยทีหลัง จะได้ไม่เกิดปัญหา นายแสวง กล่าวว่า มีคำพิพากษาของศาลฎีกาวินิจฉัยวางแนวเอาไว้แล้ว  เมื่อเราพบ ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ว่าจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร และวันนี้จะส่งประกาศไปลงในราชกิจจานุเบกษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบุคคลที่ กกต.ให้ “ใบส้ม” คือ น.ส.คอดียะฮ์ ทรงงาม ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.อ่างทอง ลำดับที่ 4 กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน โดยในใบสมัคร ระบุประวัติการทำงานว่า “ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน เป็นประชาสัมพันธ์อำเภอไชโย” และเป็นที่ปรึกษานายกอบจ. อ่างทอง 

โดยตำแหน่งที่ปรึกษานายกอบจ. ศาลฎีกาวางแนวเอาไว้ว่า เป็นผู้บริหารท้องถิ่น จึงถูกระงับสิทธิชั่วคราว และผู้ที่ได้รับการเลื่อนลำดับให้ขึ้นเป็น สว. คือ ว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ลำดับที่ 11 ซึ่งอยู่ในบัญชีสำรองเลื่อนขึ้นมาอยู่ในบัญชีตัวจริงลำดับ 10 

โดย ว่าที่ พ.ต.กรพด เปอดีตประธานรุ่น 5 หลักสูตร “พัฒนาสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหาร” (พคบ.) ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)