มัดรวม 4 ร่าง "กฎหมายประชามติ" ฉบับสมานฉันท์ กรุยทางแก้รัฐธรรมนูญ

18 มิ.ย. 2567 | 07:00 น.

เทียบร่างกฎหมายประชามติ 4 ฉบับ ครม.-เพื่อไทย-ก้าวไกล ภูมิใจไทย ไม่ตกขบวน โฆษกคณะกรรมการศึกษาประชามติ เผย ยึดร่างครม.-มัดรวม 4 ฉบับ ตั้งชื่อ “ฉบับสมานฉันท์”

รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร “สมัยวิสามัญ” เป็นพิเศษ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 มีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย

  • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ)
  • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับคณะ เป็นผู้เสนอ)
  • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลกับคณะ เป็นผู้เสนอ)
  • ะร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกับคณะ เป็นผู้เสนอ) 

นายนิกร จำนง ในฐานะโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติ กล่าวว่า ต้นร่างมาจากครม.โดยนำร่างที่อยู่ในสภา 2 ฉบับ คือ ร่างของพรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคก้าวไกลมาประกอบการพิจารณาด้วย

นายนิกรกล่าวว่า โดยร่างพ.ร.บ.ประชามติ ฉบับครม. เป็นการนำข้อดีของร่างพ.ร.บ.ประชามติทั้ง 3 ฉบับมารวมกัน ดังนั้น ร่างประชามติฉบับครม.เป็นร่างที่ผสมผสานกันทั้ง 3 ร่าง หรือ เรียกว่า ร่างสมานฉันท์ อย่างไรก็ดีต่อมามีร่างประชามติ ฉบับพรรคภูมิใจไทยเพิ่มมาอีก 1 ฉบับ ซึ่งมีหลักการคล้ายกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอีก 3 ร่าง  

นายนิกรกล่าวว่า สำหรับร่างประชามติ ฉบับครม.นั้น หนึ่ง หลักการเป็นไปตามร่างพ.ร.บ.ประชามติฉบับพรรคเพื่อไทย คือ การทำประชามติในคราวที่มีการเลือกตั้งใหญ่สามารถทำได้ เช่น การเลือกตั้ง สส. หรือ การเลือกตั้งท้องถิ่น สอง เรื่องวิธีการทำประชามติ หลักการตรงกันทุกฉบับ เดิมให้ไปหย่อนบัตรในคูหา โดยเขียนให้ชัดว่า ไปหย่อนบัตรด้วยตัวเอง ใช้ไปรษณีย์ หรือ อิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ทำให้ง่ายและประหยัด

นายนิกรกล่าวว่า สาม เรื่องข้อยุติการถามประชามติ ยึดตามร่างพ.ร.บ.ประชามติ ฉบับพรรคก้าวไกล โดยเปลี่ยนจากเสียงข้างมากสองเท่า (Double Majority) ให้เหลือเพียง เกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ และนำหลักการในร่างพ.ร.บ.ฉบับพรรคเพื่อไทยมาประกอบด้วยว่า แต่ต้องมากกว่าเสียง งดออกเสียง

นายนิกรกล่าวว่า สี่ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และ สี่ สุดท้าย เรื่องหน่วยเลือกตั้ง กรณีที่ตรงกับวันเลือกตั้ง สส. ให้ใช้หน่วยนั้นออกเสียงประชามติ และให้กกต.กำหนดให้เทศบาล หรือ อำเภอ หรือแล้วแต่กกต.กำหนดใช้เป็นหน่วยออกเสียงประชามติได้ ซึ่งเดิมเขตเลือกตั้งเป็นจังหวัด    

สำหรับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 4 ฉบับ มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ 

ร่างพ.ร.บ.ประชามติฉบับครม.

มาตรา 3 เมื่อมีกรณีจะต้องจัดให้มีการออกเสียงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 9 (1) ให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีการออกเสียงตามวันที่กำหนดตามที่ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการ ซึ่งต้อง “ไม่เร็วกว่า 90 วัน” และ “ไม่ช้ากว่า 120 วัน” นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานรัฐสภา 

ทั้งนี้ หากมีการกำหนดวันเลือกตั้ง สส.ใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือหากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระ แล้วแต่กรณีในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการออกเสียง อาจกำหนดให้วันออกเสียงเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้ง

มาตรา 4 เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญในการที่จะให้มีการออกเสียงตามมาตรา 9 (2) (3) (4) หรือ (5) ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงตามวันที่กำหนดตามที่ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการ ซึ่งต้อง "ไม่เร็วกว่า 90 วัน" และ "ไม่ช้ากว่า 120 วัน" นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ 

“เว้นแต่กรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุผลความจำเป็นในทางงบประมาณหรือเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดวันแตกต่างจากที่กำหนดไว้ได้”

ในประกาศดังกล่าวต้องระบุ เรื่องที่จะขอให้ประชาชนออกเสียงประชามติ โดยมีข้อความที่ชัดเจนเพียงพอที่จะให้ผู้มีสิทธิออกเสียง เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติได้โดยสะดวก

ทั้งนี้ หากมีการกำหนดวันเลือกตั้ง สส.ใหม่เป็นการทั่วไป หรือมีการกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการออกเสียง อาจกำหนดให้วันออกเสียงเป็นวันเดียวกันกับวันเลือกตั้ง

มาตรา 5 การออกเสียงให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยตรงและลับ
การออกเสียงให้กระทำโดยใช้บัตรออกเสียง หรือการออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่น โดยวิธีการนั้นสามารถป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก และอาจใช้วิธีลงคะแนนวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี และใช้ในเขตออกเสียงหนึ่งหรือหลายเขตออกเสียง 

มาตรา 6 การออกเสียงที่จะถือว่า มี "ข้อยุติ" ในเรื่องที่จัดทำประชามติ “ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง” โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีจำนวนเสียง “เกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง” และต้อง “สูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็น” (งดออกเสียง) ในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

มาตรา 7 เมื่อได้ประกาศกำหนดวันออกเสียงแล้ว ให้คณะกรรมการเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับอย่างอย่างทั่วถึง และให้คณะกรรมการจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด 

มาตรา 8 การออกเสียงจะใช้เขตประเทศ เขตจังหวัด เขตอำเภอ เขตเทศบาล เขตตำบล เขตหมู่บ้าน หรือเขตอื่นเป็นเขตออกเสียงก็ได้  

มาตรา 9 การกำหนดหน่วยออกเสียงและที่ออกเสียงตามพ.ร.บ.นี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด หากกรณีพื้นที่ใดมีการเลือกตั้ง สส.ใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือมีการเลือกตั้งนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระ ในวันเดียวกับการออกเสียง ให้ถือว่าหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งของการเลือกตั้งนั้น เป็นหน่วยออกเสียงและที่ออกเสียงตามพ.ร.บ.นี้ในพื้นที่ดังกล่าว 

ร่างพ.ร.บ.ประชามติฉบับพรรคเพื่อไทย

มาตรา 3 เมื่อมีกรณีจะต้องจัดให้มีการออกเสียงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 9 (1) ให้ประธานแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีการออกเสียงตามวันที่กำหนด ตามที่ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการ ซึ่งต้อง “ไม่เร็วกว่า 90 วัน” และ “ไม่ช้ากว่า 120 วัน” นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานรัฐสภา 

ทั้งนี้ หากมีการกำหนดวันเลือกตั้ง สส.ใหม่ การเลือกตั้งทั่วไป หรือหากมีการกำหนดวันเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระแล้วแต่กรณี ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการออกเสียง อาจกำหนดให้วันออกเสียงเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้ง

มาตรา 4 เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญในการที่จะให้มีการออกเสียงตามมาตรา 9 (2) (3) (4) หรือ (5) ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงตามวันที่กำหนดตามที่ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการ ซึ่งต้อง “ไม่เร็วกว่า 90 วัน” และ “ไม่ช้ากว่า 120 วัน” นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ

เว้นแต่กรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่า มีเหตุผลความจำเป็นในทางงบประมาณหรือเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดวันแตกต่างต่างจากที่กำหนดไว้ได้ ในประกาศดังกล่าวต้องระบุเรื่องที่จะขอให้ประชาชนออกเสียงโดยมีข้อความที่ชัดเจนเพียงพอ ที่จะให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติได้โดยสะดวก 

ทั้งนี้ หากมีการกำหนดวันเลือกตั้ง สส.ใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือหากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระแล้วแต่กรณี ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการออกเสียง อาจกำหนดให้วันออกเสียงเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้ง 

มาตรา 5 การออกเสียงให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยตรงและลับ 
การออกเสียงให้กระทำโดยใช้บัตรออกเสียง หรือการออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือการออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็คทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่น โดยวิธีการนั้นสามารถป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก และอาจใช้วิธีลงคะแนนวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี และใช้ในเขตออกเสียงใดเขตออกเสียงหนึ่งหรือหลายเขตออกเสียง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด 

มาตรา 6 การออกเสียงให้ถือ “เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง” โดยเสียงข้างมากต้อง “สูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็น” ในเรื่องที่จะจัดทำประชามตินั้น

มาตรา 7 เมื่อได้ประกาศกำหนดวันออกเสียงแล้ว ให้คณะกรรมการเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับอย่างทั่วถึง และให้คณะกรรมการจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกันทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบ ในเรื่องที่จัดทำประชามติ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด 

ร่างพ.ร.บ.ประชามติฉบับพรรคก้าวไกล 

มาตรา 3 การกำหนดวันออกเสียงประชามติต้อง “ไม่เร็วกว่า90วัน” และ “ไม่ช้ากว่า120วัน” นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานรัฐสภาหรือวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติแล้วแต่กรณี

หากคณะรัฐมนตรีเห็นว่า ควรจัดให้มีการออกเสียงในวันเดียวกับวันเลือกตั้งอื่น คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดวันออกเสียงแตกต่างจากเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งได้ แต่ต้อง "ไม่เร็วกว่า60วัน" และ "ไม่ช้ากว่า180วัน" นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีมีมติ แล้วแต่กรณี 

หากคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุผลความจำเป็นในทางงบประมาณ หรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดวันออกเสียงที่แตกต่างจากเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งได้ 

มาตรา 7 การออกเสียงที่จะถือว่ามี "ข้อยุติ" ในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีจำนวนเสียง “เกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง” ในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น 

มาตรา 8 การจัดทำและการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีการออกเสียงตามวรรคหนึ่ง ต้องมุ่งให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีการออกเสียงและต้อง "ไม่มีลักษณะเป็นการชี้นำ" ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนออกเสียงทางใดทางหนึ่งกับเรื่องที่จะมีการออกเสียงนั้น 

มาตรา 9 การออกเสียง จะใช้เขตประเทศ เขตจังหวัด เขตอำเภอ เขตเทศบาล เขตตำบล เขตหมู่บ้าน หรือเขตอื่น เป็นเขตออกเสียงก็ได้ 

มาตรา 10 ในกรณีที่พื้นที่ใดทีการเลือกตั้งในวันเดียวกันกับการออกเสียงประชามติ ให้ถือว่าหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งของการเลือกตั้งนั้น เป็นหน่วยออกเสียงและที่ออกเสียงตามพ.ร.บ.นี้ในพื้นที่ดังกล่าว  

ร่างพ.ร.บ.ประชามติฉบับพรรคภูมิใจไทย 

มาตรา 4 เมื่อมีกรณีที่จะต้องจัดให้มีการออกเสียงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 9 (1) ให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีการออกเสียงตามวันที่กำหนดตามที่ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการ ซึ่งต้อง “ไม่เร็วกว่า 90 วัน” และ “ไม่ช้ากว่า 120 วัน” นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานสภา 

ทั้งนี้ หากมีการกำหนดวันเลือกตั้ง สส.ใหม่เป็นการทั่วไป หรือมีการกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่น แล้วแต่กรณีให้กำหนดวันออกเสียงเป็นวันเดียวกัน 

มาตรา 5 เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการที่จะให้มีการออกเสียงตามมาตรา 9 (2) (3) (4) หรือ (5) ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงตามวันที่กำหนดตามที่ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการ ซึ่งต้อง "ไม่เร็วกว่า90วัน" และ "ไม่ช้ากว่า120วัน" นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ 

“เว้นแต่กรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุผลความจำเป็นในทางงบประมาณหรือเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดวันแตกต่างจากที่กำหนดไว้”

ทั้งนี้ หากมีการกำหนดวันเลือกตั้ง สส.ใหม่เป็นการทั่วไป หรือมีการกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่น แล้วแต่กรณีให้กำหนดวันออกเสียงเป็นวันเดียวกัน

มาตรา 6 การออกเสียงที่จะถือว่ามี "ข้อยุติ" ในเรื่องที่จัดทำประชามติต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวน “เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง” และมีจำนวน “เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง” โดยคะแนนเสียงข้างมาก “ต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็น” ในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น 

การออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงในการให้ความเห็นชอบหรือไม่ชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ 

มาตรา 7 การจัดทำและการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีการออกเสียงตามวรรคหนึ่ง ต้องมุ่งให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีการออกเสียง และต้องดำเนินการให้ข้อมูลทั้งที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบเกี่ยวกับเรื่องที่จะจัดทำประชามติแก่ประชาชนได้รับทราบอย่างครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจออกเสียง