กกต.ยื่นคำชี้แจงต่อศาลรธน.แล้ว ปม 4 มาตรากฎหมาย สว. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

10 มิ.ย. 2567 | 16:05 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2567 | 16:12 น.

"แสวง บญมี" เลขาฯ กกต.ยื่นคำชี้แจงต่อ"ศาลรัฐธรรมนูญ"แล้ว ปม 4 มาตรากฎหมายได้มาซึ่ง สว. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ มาตรา 107 หรือไม่

วันนี้ (10 มิ.ย. 67) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวว่า ได้ลงนามในเอกสารชี้แจงกรณีศาลรัฐธรรมนูญ รับวินิจฉัย 4 มาตราพ.ร.ป.ว่าด้วยกันได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการเลือก สว. ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่แล้ว คาดว่าจะส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญภายในวันนี้ ส่วนรายละเอียดขอยังไม่ตอบ

ทั้งนี้กรณีดังกล่าวศาลปกครอง ได้ส่งคำโต้แย้งของคู่กรณีซึ่งเป็นผู้สมัคร สว. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 36 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (3) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3) และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง (3) พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่ 

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2567 รับไว้พิจารณาวินิจฉัย พร้อมสั่งให้กกต.ยื่นคำชี้แจงภายใน 5 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับ 4 มาตราที่มีการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประกอบด้วย

 

มาตรา 36 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้สมัคร แนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต.กำหนด หรือบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้สมัครจะช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัวต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด

มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (3) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3)  และ มาตรา 42 วรรคหนึ่ง (3) เกี่ยวข้องกับวิธีการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ที่กำหนดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่ม, ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ, ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัด ลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 และไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนมิได้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่