เปิดข้อต่อสู้ "ทีมกฎหมายเศรษฐา" หักล้าง "คดีตั้งพิชิต" ในศาลรัฐธรรมนูญ

29 พ.ค. 2567 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ค. 2567 | 10:20 น.

เปิดข้อต่อสู้ สลค.-กฤษฎีกา ในศาลรัฐธรรมนูญ ปม เศรษฐา ตั้ง พิชิต เป็นรัฐมนตรี แกะข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย แก้ต่าง-หักล้าง คุณสมบัติต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรี

“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี หลังพิงฝา ต้องแบกหน้าไปเทียบเชิญ “วิษณุ เครืองาม” อดีตนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย 13 รัฐบาล 9 นายกฯ ให้มาเป็น “หัวหน้าเนติบริกร” สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) – สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สถานที่ที่เป็นลูกหม้อ-ปรมาจารย์สำนักที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาล

เป็นการใช้บริการเสริมแพคเกจ "โปรแรง" เพื่อให้ "วิษณุ" มาคุมหางเสือ "รัฐราชการ" ที่เป็น "ไม้เบื่อไม้เมา" ตั้งแต่รัฐบาลเพื่อไทย ต่อสู้คดีที่ "กลุ่ม 40 สว." ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวกรณีแต่งตั้ง "พิชิต ชื่นบาน" เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทีมกฎหมาย "คดีเศรษฐาตั้งพิชิต" ประกอบด้วย สลค. และ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานหลักในการร่างคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา  

หนึ่งในทีมกฎหมายสู้ “คดีเศรษฐาตั้งพิชิต” แสดงความมั่นอกมั่นใจ ว่า จะสามารถชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ทุกประเด็น ทัน “เดดไลน์” 15 วัน    

สำหรับ “ข้อต่อสู้” ที่มี "สารตั้งต้น" แห่งคดี คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จำนวน 4 วงเล็บ 
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 
(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท 

ข้อต่อสู้ สลค.-กฤษฎีกา

สลค. เตรียมข้อมูลชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นที่เป็น “ข้อกังขา” เพราะสาเหตุใดจึงสอบถามกฤษฎีกาในเรื่องคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) และ (7) เท่านั้น ขณะที่ (4) และ (5) ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์-จริยธรรมกลับ “เว้นไว้” เพราะใช้ "ไม้บรรทัด" วัดได้ยากว่า "สีขาว" หรือ "สีดำ" และยังมี "สีเทา" หากใช้เป็น “บรรทัดฐาน” รัฐมนตรีคนอื่น ๆ ทั้งปัจจุบัน-อดีตอาจต้องต่อแถวกันส่งตีความวัดมาตรฐานจริยธรรมกันยาวเหยียด 

รวมถึง “คำอธิบาย” กรณีที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า “มือมืด” เป็น “ผู้ร่าง” หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประดับตรา “ลับมาก-ด่วนที่สุด” ที่ นร 0503/ท 4797 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเพียงมาตรา (6) และ (7) เท่านั้น 

ขณะที่ “ข้อต่อสู้” ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้ “ความเห็น” หนังสือ ลับมาก-ด่วนที่สุด ที่ นร 0904/152 ที่ตอบ “ขอหารือ” สลค. เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี 

ประเด็นแรก มาตรา 160 (6) "คีย์เวิร์ด" ของ คณะกรรมการกฤษฎีกา “คณะพิเศษ” คือ “เว้นแต่บุคคลนั้นได้พ้นโทษเกิน 10 ปีแล้ว” 

ประเด็นที่สอง มาตรา 160 (7) “บทบัญญัติดังกล่าวไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก” 

ดังนั้นจุดที่จะทำให้ “คดีพลิก” คือ การชี้แจงข้อกฎหมายเพิ่มเติมของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในมาตรา 160 (4) และ (5) กฤษฎีกาจะ “มีความเห็น” ความข้อกฎหมายไปในทาง “เป็นคุณ” หรือ “เป็นโทษ” แห่งคดี

ข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายแก้ต่าง "พิชิต"  

ส่วนข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายของนายพิชิต รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ชี้แจง “นอกศาล” ในทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ก่อนที่นายพิชิตจะ “ดีดตัว” ออกจาก “วงจรอุบาทว์” นำมาซึ่ง “ข้อมูลใหม่” ชิ้นแรก คือ "หนังสือลาออก" ระบุให้มีผลใน "วันเดียวกัน"

ชิ้นที่สอง ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง รัฐมนตรีลาออก ส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมตาม 170 (2) ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 

โดย “ข้อเท็จจริง” ที่ใช้เป็นหลักฐานรับรองคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิตที่แสดง "ต่อสาธารณะ" ไม่ให้ลุกลามไปถึง "เก้าอี้นายกรัฐมนตรี" ว่า ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 3 ข้อ 

  • ไม่ใช่โทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล
  • พ้นโทษเกิน 10 ปีแล้ว
  • ไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก  

โดยแจกเป็น "เอกสารชี้แจง" ที่เป็นทั้งข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย ประกอบด้วย “คำสั่ง ศาลฎีกา ที่ 4599/2551 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2551 เรื่อง ละเมิดอำนาจศาล” เพื่อยืนยันว่านายพิชิต พ้นโทษในคดี “ละเมิดอำนาจศาล” เกิน 10 ปี โดยมีข้อ “หักล้าง” ดังนี้

  • นายพิชิตถูกบังคับโทษ โดย “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง” ไม่ใช่ “บังคับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา” (รูปแบบศาลจัดทำเป็น “คำสั่ง” ไม่ใช่คำพิพากษา) 
  • นายพิชิตไม่เคยถูกบังคับโทษในทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งรูปแบบจะจัดทำเป็น “คำพิพากษา” ไม่ใช่คำสั่ง 

ข้อกฎหมาย 

  • นายพิชิตยกตัวอย่าง “คำพิพากษาศาลฎีกา” คดีละเมิดอำนาจศาลทั่วไปที่ใช้สิทธิ์อุทธรณ์ฎีกาได้  คือ คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 5494/2562 , ที่ 6294/2558 และ ที่ 7597/2562
  • นายพิชิต อ้างถึงหลักการการนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาปรับใช้กับ ป.วิแพ่งไม่ได้ 

รวมถึงการให้ถ้อยคำ-แก้ต่าง “คำสั่งศาลฎีกา” ไม่ได้เป็นตัวการ – ไม่รู้เรื่องถึงการกระทำ-ถือเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ ตลอดจนหนังสือแจ้ง "คำสั่งไม่ฟ้อง" ในคดีอาญาของอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ที่แจ้งไปยังสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม 

และการกล่าวถึงการรับรองสถานะการดำรงตำแหน่ง สส.พรรคเพื่อไทย เมื่อปี 54 และการรับรองคุณสมบัติของกกต.ให้เป็นผู้สมัคร สส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคไทยรักษาชาติ เมื่อการเลือกตั้งปี 62 

สุดท้ายต้องลุ้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย "ออกหัว" หรือ "ออกก้อย" หลังพ้น 15 วันอันตราย