วิบากกรรม 4 นายกฯ เครือข่ายทักษิณ ในวังวนศาลรัฐธรรมนูญ

24 พ.ค. 2567 | 07:00 น.

วิบากกรรม 4 นายกรัฐมนตรีเครือข่ายทักษิณ ในกำมือศาลรัฐธรรมนูญ ต้องพ้นจากตำแหน่ง "ประมุขตึกไทยคู่ฟ้า" ถึง 2 คน - เฉียดตาย "คดีซุกหุ้นภาคแรก" อีก 1 คน "เศรษฐา" เสี่ยงตกม้าตาย ปม ตั้ง "พิชิต" นั่งรัฐมนตรี

พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญ "วิบากกรรมทางการเมือง" อีกครั้ง ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ “เสียงข้างมาก” ด้วยคะแนน 6 ต่อ 3 ให้ "รับคำร้อง" ไว้วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 โดยให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน

เศรษฐา คอพาดเขียง 40 สว. 

สืบเนื่องจากกรณี "กลุ่ม 40 สว." ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ 

ด้วยปรากฏว่า นายเศรษฐา ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง นายพิชิต ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

ทักษิณ เฉียดตาย "คดีซุกหุ้นภาคแรก"

"เศรษฐา" ในฐานะ "นายก ฯ เพื่อไทย" บริหารราชการแผ่นดินมาได้เพียง 8 เดือน ต้องผจญกับมรสุมชีวิตการเมืองลูกใหญ่ ตามรอย “นายกฯ เครือข่ายทักษิณ” ที่ต้องโดน “เด็ดหัว” ซ้ำแล้วซ้ำอีก  

คนแรก “ทักษิณ ชินวัตร” หัวหน้าพรรคไทยรักไทย-นายกรัฐมนตรี โดนรับน้องใน “คดีซุกหุ้นภาคแรก” เฉียดตาย ตกเก้านายกฯ คนที่ 23 ที่กรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยฐานยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ

ทว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติ "เสียงข้างมาก" ด้วยคะแนน 8 ต่อ 7 ให้ทักษิณ "พ้นมลทิน" แบบเส้นยาแดงผ่าแปด

อย่างไรก็ตาม "ทักษิณ" ต้องมาตกม้าตายใน “คดีซุกหุ้นภาคสอง” เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีมติ “เสียงข้างมาก” ลงโทษจำคุก 5 ปี กรณีให้ “คนใกล้ชิด” ถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,419 ล้านหุ้น ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี   

สมัคร ตกม้าตาย "ชิมไป บ่นไป" 

คนที่สอง “สมัคร สุนทรเวช” หัวหน้าพรรคพลังประชาชน-นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 12-13/2551 เรื่องพิจารณาที่ 19/2551 และเรื่องพิจารณาที่ 29/2551 ที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สว.กับคณะรวม 29 คน และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ร้อง

โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ปี 50 มาตรา 91 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และวรรคสาม และมาตรา 267 หรือไม่ กรณีนายสมัครเป็นพิธีกรให้กับบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด หลายรายการ เช่น รายการ “ชิมไป บ่นไป” และรายการ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” โดยได้รับค่าตอบแทนการเป็นพิธีกรครั้งละ 5,000 บาท 

ศาลรัฐธรรมนูญมี "มติเอกฉันท์" วินิจฉัยว่า นายสมัครกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัครสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีเป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่เหลือ จึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ 

โยกย้าย "ถวิล" พ่นพิษ "ยิ่งลักษณ์"  

คนที่สาม “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกฯน้องสาวทักษิณ คำวินิจฉัยที่ 9/2557 เรื่องพิจารณาที่ 34/2557 ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน สว.และคณะรวม 28 คน ผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ ปี 50 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 และมาตรา 266 (2) และ (3) กรณีโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” เลขาธิการ สมช.ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ

ศาลรัฐธรรมนูญมี "มติเอกฉันท์" วินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง และของผู้อื่น ในเรื่องการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน หรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) 

และรัฐมนตรีที่ได้ร่วมมีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 จึงมีส่วนร่วมในการก้าวก่ายและแทรกแซงข้าราชการประจำอันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีเหล่านั้นต้องสิ้นสุดเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ด้วย 

ส่วน “เศรษฐา” แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย ยังมีเวลาให้หายใจ 15 วัน ในการซักซ้อมแก้ต่าง-หักล้างแก้ข้อกล่าวหาในศาลรัฐธรรมนูญ สถานที่คุ้นชินของนายกฯเครือข่ายทักษิณ