"กกต."จับสลากผู้ตรวจเลือกตั้ง 423 คน ส่งลงพื้นที่สกัดทุจริตเลือก ส.ว.

08 พ.ค. 2567 | 18:06 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2567 | 18:12 น.

"กกต."จับสลากปล่อยแถวผู้ตรวจเลือกตั้ง 423 คนลงพื้นที่สกัดทุจริตเลือก ส.ว. เชื่อกฎหมายทำให้ฮั้วยาก ยันพร้อมรับฟังคนไม่เห็นด้วยกับระเบียบแนะนำตัว เตรียมถกที่ประชุมสัปดาห์หน้า

วันนี้ (8 พ.ค. 67) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานจับสลากเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด จำนวน 423 คน จากบัญชีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีความพร้อมปฏิบัติหน้าที่ 602 คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ใน 77 จังหวัด 928 อำเภอ 

โดยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 และ 30 ที่กำหนดให้ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่ละครั้ง กกต.ต้องแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งจากบัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละจังหวัดไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 8 คน โดยวิธีการจับสลากแบ่งเป็น 2 คน จะต้องมีภูมิลำเนาในจังหวัด ที่จะแต่งตั้งและที่เหลือเป็นคนต่างภูมิลำเนา

นายอิทธิพร กล่าวว่า การจับสลากเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ เพื่อรองรับพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกส.ว. โดยในช่วงนี้จะมีการอบรมผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำภูมิภาคต่างๆ ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วได้ไปพูดคุยกับผู้ตรวจการเลือกตั้ง ได้ย้ำถึงหน้าที่ต่างๆเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยขอให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งลงพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อไปคุยกับเครือข่ายกกต.ในพื้นที่ ซึ่งได้แก่กรรมการศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตยประจำตำบล 

                            \"กกต.\"จับสลากผู้ตรวจเลือกตั้ง 423 คน ส่งลงพื้นที่สกัดทุจริตเลือก ส.ว.

บุคลากรเหล่านี้จะสามารถช่วยผู้ตรวจการเลือกตั้งในการปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งในหมู่บ้านไม่ขายเสียงซึ่งเรามี 10,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ เข้ามาช่วยสอดส่องดูแล 

นอกจากนี้ ยังจะทำงานร่วมกันกับ 4 ประสานต้านทุจริต ประกอบด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง เจ้าที่รัฐ ประชาชน และกกต. นอกจากนี้ยังมีองค์กรเอกชนร่วมสนใจเข้ามาช่วยเหลือตรวจสอบการเลือกด้วย ซึ่งการร่วมกันทำงานก็จะช่วยในการป้องกันการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายได้

"ตอนนี้ก็พร้อมทั้งงบประมาณ บุคลากร และเอกสาร เอกสารล่าสุดที่ทำเสร็จแล้วก็คือระเบียบว่าด้วยการแนะนำตัวผู้สมัครสว. ที่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 เม.ย. โดยเขียนไว้ชัดเจนว่า ผู้ประสงค์จะลงสมัครสามารถแนะนำตัวตามวิธีการที่ระบุในระเบียบได้ และในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอทุกจังหวัด และกระทรวงมหาดไทย เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้”

                         \"กกต.\"จับสลากผู้ตรวจเลือกตั้ง 423 คน ส่งลงพื้นที่สกัดทุจริตเลือก ส.ว.

ส่วนมาตรการป้องกันการฮั้วในช่วงที่มีการเลือก ส.ว. นายอิทธิพร กล่าวว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกสว. ได้ออกแบบมากำหนดให้มีค่าสมัคร 2,500 บาท ซึ่งจะทำให้มาตรการการฮั้ว ต้องใช้คน และเงินเป็นจำนวนมาก อาจจะไม่ได้ทำได้ง่าย และการเลือกแบบไขว้เป็นเรื่องยากที่คาดคะเนได้ว่าใครจะเลือกเรา ซึ่งหวังว่าจะสามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง 

อีกหนึ่งกลไกคือ การประชาสัมพันธ์กับประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกส.ว.ในครัังนี้ โดยข้อมูลข่าวสารที่มาแจ้งกับกกต.นำมาสู่การตัดสินลงโทษโดยศาล ก็จะมีโอกาสได้รับเงินรางวัลสูงสุดจำนวน 1 ล้านบาท อีกทั้งมีผู้ตรวจการเลือกตั้งคอยสอดส่อง ด้วยกลไกเหล่านี้ก็หวังว่าจะช่วยป้องกันป้องปรามการกระทำความผิดได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่ดีที่สุดคือการใช้ความสุจริตในการเลือก อย่าไปแทรกแซงผู้สมัคร

ส่วนที่มีผู้ไม่เห็นด้วยกับระเบียบการแนะนำตัวส.ว.เพราะประชาชนไม่สามารถรับรู้ได้ว่าใครจะมาเป็นผู้สมัคร นายอิทธิพร กล่าวว่า เมื่อระเบียบออกมาแล้วมีเสียงสะท้อนว่า ควรจะปรับปรุงอะไร เราก็พร้อมที่จะรับฟัง โดยในการประชุมกกต.ในสัปดาห์นี้ ได้ให้สำนักงานฯไปรวบรวมความเห็นเหล่านั้นมา และประมวลเพื่อเสนอว่าประเด็นใดที่ควรจะปรับแก้ หรือควรจะยืนไว้ตามเดิม 

“ส่วนประชาชนจะมีโอกาสได้รับรู้ว่าใครเป็นผู้สมัคร เรามีมาตรการรองรับแล้วว่าเมื่อมีการประกาศรายชื่อผู้สมัครทั้งหมดทั่วประเทศใน 928 อำเภอ เราจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาใส่ในเว็บไซต์ของกกต.หรือในแอพลิเคชั่นสมาร์ทโหวต ซึ่งประชาชนก็จะมีโอกาสเห็นว่าอำเภอไหนใครเป็นผู้สมัคร สมัครกลุ่มใด ซึ่งมีภาพ รายชื่อ ประวัติ ประสบการณ์ซึ่งเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่มีครบ”

ต่อกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับบทลงโทษ นายอิทธิพร กล่าวว่า เรามีการกำหนดโทษตามระดับการกระทำความผิดเทียบเคียงกับความผิดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ซึ่งคนที่จะชี้โทษคือศาล ฉะนั้นในการออกแบบกฎหมายที่กำหนดโทษโดยการฝ่าฝืนไว้ในพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกส.ว. ได้คำนึงถึงความเหมาะสมไว้อยู่แล้ว