ญัตติ 99 สว. ทิ้งทวน ซักฟอกรัฐบาลเศรษฐา ถล่มปม ทักษิณ-เงินดิจิทัลวอลเล็ต

23 มี.ค. 2567 | 08:08 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2567 | 10:28 น.

เปิดญัตติ 99 สว. อภิปรายทั่วไป รัฐบาลเศรษฐา 25 มีนาคมนี้ ถล่มปม แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ทักษิณ สปก.4-01 หมูเถื่อน กลุ่มทุนพลังงาน พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

วันนี้ (23 มีนาคม 2567) รายงานข่าวจากวุฒิสภา แจ้งว่า น.ส.นภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา ส่งหนังสือ ด่วนมาก ที่ สว 0007/(ว 18) ถึงสมาชิกวุฒิสภา นัดประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 28 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น.

เรื่องด่วน ญัตติ ขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 153 โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.กับคณะ รวม 99 คน เป็นผู้เสนอ 

ทั้งนี้ระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 และได้เข้าบริหารราชการแผ่นดินนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน 

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาประมาณ 4 เดือน รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสำคัญตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ รวมถึงปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นภายหลังจากได้มีการแถลงนโยบายไปแล้ว ดังนี้ 

1.ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติ และปัญหาปากท้องของประชาชน 

  • การสร้างกระบวนการและแนวทางในการสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนที่ยั่งยืน และการทำให้ประชาชนมีรายได้และมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและเป็นการแก้ปัญหาความยากจนรัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างไร
  • สภาพปัญหาการดำเนินนโยบายการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สร้างภาระหนี้สินให้กับประชาชนในชาติ จะดำเนินการได้จริงหรือไม่
  • การแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบตามแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในปัจจุบันโดยไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาจากต้นตอในระดับครัวเรือน
  • การแก้ไขปัญหาการฟื้นชีวิตอุตสาหกรรมการประมงที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตการทำประมงอย่างแท้จริง 
  • การสร้างรายได้ของประเทศจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศไทยจะดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร 
  • รัฐบาลทราบหรือไม่ว่า การประกาศใช้กฎหมายผังเมืองใหม่ที่ล่าช้าทำให้ประชาชนขาดโอกาส และขาดประโยชน์ในการประกอบอาชีพ 

2.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย

  • ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษาที่สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน 
  • การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ช่วยพวกพ้อง หาประโยชน์ส่วนตน สร้างมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ไม่เท่าเทียม การทุจริตคอรัปชัน ยาเสพติด และการพนัน 
  • การแก้ปัญหาการปราบปรามขบวนการลักลอบสินค้าปศุสัตว์จากต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ 
  • การเปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรมอาจเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน จะมีมาตรการการป้องกันได้อย่างไร
  • การปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดยังไม่เห็นผลชัดเจนและเป็นรูปธรรมจะมีแนวทางอย่างไร  
  • มาตรการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเรียกส่วยหรือการหาผลประโยชน์ในทุกกรณี จะแก้ไขปัญหาให้จริงจังและเป็นรูปธรรมได้อย่างไร 
  • การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (Cyber Crime) ที่มีประสิทธิภาพจะทำได้อย่างไร 

3.ปัญหาด้านพลังงาน

  • การไม่สามารถแก้ไขปัญหาโครงสร้างพลังงานของประเทศ และการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงตุ้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 
  • กลุ่มทุนพลังงานมีอิทธิพลกับการเมือง ทำให้กลุ่มทุนกำหนดราคาพลังงานในอัตราที่สูงเกินความจำเป็นจนทำให้ประชาชนแบกภาระราคาเชื้อเพลิงที่มีราคาสูงเกินจริง จะแก้ไขอย่างไร 
  • ความไม่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในทะเล (OCA) กับประเทศรอบบ้าน ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นแหล่งพลังงานสำคัญได้ 

4.ปัญหาด้านการศึกษา และสังคม 

  • การไม่เร่งปฏิรูปการศึกษา โดยยังเพิกเฉยต่อการผลักดันการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้เป็นแม่บทในการพัฒนาการศึกษาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของโลก 
  • การไม่เร่งผลักดัน และปล่อยปละละเลยในการแก้ไขปัญหาการปรับโครงสร้างของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ หลังจากพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้มาถึงวันนี้เกือบ 1 ปี แต่ไม่สามารถปรับโครงสร้างได้แล้วเสร็จ ทำให้เกิดผลเสียต่อการจัดการศึกษาอย่างร้ายแรง 
  • การแก้ปัญหาหนี้สินครู รัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมทำให้ปัญหาหนี้สินครูยังไม่ได้รับการแก้ไขส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการสอนของครู และส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา 
  • การจัดหลักสูตรการศึกษาในสถานศึกษาและการให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  • ปัญหาการดูแลผู้สูงวัย ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทย
  • ปัญหาการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข 

5.ปัญหาด้านการต่างประเทศ และการท่องเที่ยว 

  • ที่เรียกผู้กระทำความผิดว่า “จีนเทา” บ่อยครั้ง ตอกย้ำ จนกระทบกับความสัมพันธ์กับความรู้สึกของสาธารณรัฐประชาชนจีนและประชาชนจีนจะแก้ไขอย่างไร 
  • การวางตัวเป็นกลางและการเลือกข้างของรัฐบาลกับความขัดแย้งของประเทศต่างๆ จะวางตัวอย่างไรให้เหมาะสมแก่สถานการณ์
  • มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และการสร้างความเชื่อมั่นและหลักประกันในการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว
  • การกำหนดพื้นที่และการให้เจ้าหน้าที่ราชการที่เกี่ยวข้องในการให้ความสะดวกแก่กิจการท่องเที่ยวหรือให้ความสะดวกแก่การทำมาค้าขายของประชาชน รวมทั้งไม่ควรอ้างการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อสร้างเงื่อนไขสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

6.ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ล่าสุดรัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการทำประชามติต้องมีความชัดเจน เพื่ออธิบายให้ได้ว่า มีความจำเป็นในการดำเนินการอย่างไร โดยชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศอย่างไร 

7.ปัญหาการดำเนินการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ

ตามรายงานที่วุฒิสภาได้ติดตามเสนอแนะเร่งรัดต่อรัฐบาลไปแล้วนั้น รัฐบาลมีนโยบายและแนวทางดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวอย่างไร 

ทั้งนี้ ตามหนังสือระบุว่า ปัญหาข้างต้นเป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่เร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการและแก้ไขปัญหาโดยทันที อันส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งไม่บรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีรายได้เพิ่มขึ้น