เปิดรายชื่อทีมสอบ “บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก” สางปมขัดแย้งรายงานนายกฯทุก15วัน

20 มี.ค. 2567 | 16:26 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2567 | 17:54 น.
2.5 k

เปิดรายชื่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ระหว่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ต้องรายงานนายกรัฐมนตรีให้ทราบโดยตรงทุก 15 วัน พบเป็นชุดเดียวกับที่เคยทำเรื่องสอบกรณี "ค้นบ้านบิ๊กโจ๊ก" เมื่อ ก.ย. 2566

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)  เปิดเผยตอนหนึ่งว่า “จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวม 3 คน มาจากตำรวจ อดีตปลัดมหาดไทย และบุคคลจากสำนักนายกฯ” กรณีมีคดีความเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ระหว่างพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หลังจากมีคำสั่งย้ายทั้ง 2 คน มาปฏิบัติราชการชั่วคราว 60 วันที่สำนักนายกรัฐมนตรี

และนอกจากนี้จะมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มารักษาการตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทนชั่วคราว 

นายเศรษฐา ยังบอกอีกว่าได้แจ้งรายชื่อคณะกรรมการทั้ง 3 คนให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ ทราบแล้วในการเรียกพบเมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 คน ก็ยอมรับว่าเป็นบุคคลที่มีความเป็นกลาง 

ทั้งนี้มีรายงานว่า “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง” ที่นายกรัฐมนตรีจะลงนามอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และประกาศอย่างเป็นทางการช่วงเย็นวันนี้ (20มี.ค.67) ประกอบด้วย

  1. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ
  2. นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นกรรมการ
  3. พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เป็นกรรมการ และเลขานุการ

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า คณะการชุดนี้เป็นชุดเดียวกับ "คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่247/2566" เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566" ที่นายเศรษฐา แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีการเข้าค้นบ้านพักของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเคหสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศคณะกรรมการสอบสวนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังเข้าค้นบ้านพักข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และเคหสถานอื่นอีกหลายสิบแห่งในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากพบว่ามีข้อมูลเชื่อมโยงเส้นทางการเงินเกี่ยวกับเว็บไซต์พนันออนไลน์ หรือ กรณีที่มีการตรวจค้นบ้านของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ เป็นข่าวดังก่อนหน้านี้ 

 

"เศรษฐา" เซ็นตั้ง ปลัดฉิ่ง-ชาติพงษ์-วินัย เป็นกรรมการตรวจสอบ

 

ต่อมาในวันที่ 20 มี.ค.2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงนามใน "คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 109/2567" เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โดยระบุว่า ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 106/2567 เรื่องให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 20 มีนาคม 2567 นั้น

โดยกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง และมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่จะต้องรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนความมั่นคงของราชอาณาจักรตามหน้าที่และอำนาจที่รัฐธรรมนูญกฎหมายกำหนดไว้ การที่ปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะต่อเนื่องติดต่อกัน มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และมีการดำเนินคดีตามกฎหมายซึ่งกันและกัน จนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติแลประชาชนทั่วไป จนกระทบต่อการบริหารงานบุคคล และงานด้านกระบวนการยุติธรรม ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และอาจทำให้ประโยชน์ของทางราชการเสียหาย

จึงเป็นเหตุสมควรที่สาธารณชนจะได้มีโอกาสทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้อง ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันมีให้มีผู้หนึ่งผู้ใดในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แทรกแซงคดีที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและให้การใช้อำนาจภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นไปตามหลักนิติธรรม

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่ง พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2534นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อ สาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วย

  1. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการ
  2. นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด กรรมการ
  3. พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ กรรมการ และเลขานุการ

ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ข้อ 2 คณะกรรมการตามข้อ 1 มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายใน60วัน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวในกรณีที่จำเป็น นายกรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่งออกไปอีกได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการรายงานความคืบหน้าต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะทุก15วัน

ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจเชิญ หรือ ประสานขอความร่วมมือ หรือขอเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือบุคคลภายนอก เพื่อตรวจสอบ สอบถามหรือขอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาได้ และให้เจ้าหน้าที่หรือ หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่ได้รับเชิญหรือขอความร่วมมือ ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการโดยถือเป็นลำดับความสำคัญเร่งด่วนที่สุด

ข้อ 4 ให้คณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการได้รับเบี้ยประชุมตามที่กระทรวงการคลังกำหนด คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะทำงานเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อพิจารณาศึกษาหรือปฏิบัติการ อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้ โดยให้คณะทำงานได้รับค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนดเบี้ยประชุมตามวรรคหนึ่งและคำตอบแทนตามรรคสองให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้(20มี.ค.67) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ เเละนายชาติพงษ์ จีระพันธุ 2 ใน3 กรรมการได้เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี โดยนายเศรษฐา ได้มอบนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเน้นให้ความเป็นธรรม ความเป็นความกลางกับทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความกระจ่างกับสังคมสามารถอธิบายได้โดยให้ให้รายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรีทุก 15 วัน

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 109/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 109/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ