นักการเมือง ยึด บอร์ดขสมก. ชี้ชะตา ปฏิรูปขสมก.ขาดทุน-กำไร

20 ก.พ. 2567 | 16:25 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2567 | 16:45 น.
1.3 k

ครม.ตั้ง บอร์ดขสมก.ชุดใหม่ นักการเมือง ยึดหัวหาด ทั้งอดีต สส.สอบตกพรรคเพื่อไทย - คนใกล้ชิด สายตรงบ้านจันทร์ส่องหล้า-นายพลตำรวจบ้านป่ารอยต่อ

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รวม 9 คน 

หลังจากประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป 

5 ใน 9 อรหันต์ “บอร์ดขสมก.” มีประวัติ-ภูมิลำเนา เป็นนักการเมือง “ยกแผง”  ตั้งแต่ “หัว” ประธานบอร์ดขสมก.ไปจนถึง กรรมการ 

“ยุทธนา ยุพฤทธิ์” ประธานบอร์ดขสมก. พื้นเพเป็น “นักการเมืองท้องถิ่น” ก่อนจะกระโดดมาเป็น “นักการเมืองระดับชาติ” ในฐานะ สว.ยโสธร และมีชื่อเป็นอดีตผู้สมัคร สส.ยโสธร พรรคภูมิใจไทย   

“พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย” อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 5 “สายตรงบ้านป่ารอยต่อคนใหม่”

โดย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐพยายามทาบทามให้มากู้วิกฤตพรรคทหารในตำแหน่ง “โฆษกพรรค” 

“จิรายุ ห่วงทรัพย์” ชื่อนี้ไม่ต้องบอกสรรพคุณ “ยี่ห้อเพื่อไทย” อดีต สส.กทม.เพื่อไทยหลายสมัย แต่กลายเป็น “สส.สอบตก” เมื่อปี 66 หลังเจอมรสุม “ส้มทั้งแผ่นดิน” ปัจจุบันยังเป็น “โฆษกกระทรวงกลาโหม” อีกตำแหน่ง  

“กมลพัฒน์ ปุงบางกะดี่” หรือ “น้องเชอร์รี่” มีชื่อเป็นผู้สมัคร สส.กทม.พรรคไทยรักษาชาติ แต่ภายหลังพรรคถูกยุบก็มาเป็นผู้สมัคร สส.กทม.พรรคเพื่อไทย 

“ธนพล โตโพธิ์ไทย” อดีตผู้ชำนาญการคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร “คนใกล้ชิด” มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม “สายตรงบ้านจันทร์ส่องหล้า” 

สำหรับงบประมาณ ขสมก.ปี 2567 จำนวน 14,262 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 14,262 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 197 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเงินอุดหนุนจากงบประมาณอีก 3,249 ล้านบาท

ผลการดำเนินงาน รายได้รวมปี 2566 จำนวน 6,652 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 13,348 ล้านบาท ขาดทุน 6,696 ล้านบาท

ส่วนปี 2567 คาดว่าจะมีรายได้ 12,287 ล้านบาท รายจ่าย 14,262.6000 ล้านบาท ขาดทุน 1,974.9760 ล้านบาท 

ปีงบประมาณ 2566 ขสมก. มีสินทรัพย์รวม 2566 จำนวน 10,007 ล้านบาท หนี้สินรวม 143,059 ล้านบาท

ขณะที่ปีงบประมาณ 2567 ขสมก. คาดว่าจะมีหนี้สินรวม10,048 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 145,075 ล้านบาท 

ตามแผนฟื้นฟู ขสมก.จะมีการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV) โดยใช้วิธีการเช่าแบบเหมาซ่อม จำนวน 2,013 คัน แบ่งออก 3 เฟส

เฟสแรก จำนวน 224 คัน เฟสสอง จำนวน 1,020 คัน และเฟสสาม จำนวน 769 คัน สำหรับวงเงินเฟสแรกที่เคยประเมินไว้ประมาณ 900 ล้านบาท

อนาคตของการปฏิรูปขสมท.แขวนไว้อยู่กับ “บอร์ดขสมก.” ทั้ง 9 อรหันต์