3 แนวทางคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดี พิธา-ก้าวไกล ยกเลิก ม.112

31 ม.ค. 2567 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2567 | 09:09 น.

เปิด 3 แนวทาง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ชะตา พิธา-ก้าวไกล แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่ จับตา "ดาบสอง" ยื่น กกต.ยุบพรรค-ป.ป.ช.ฟันฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง

วันนี้ (31 มกราคม 2567) ในเวลา 14.00 น.ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ 

ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในประเด็นสำคัญ ว่า การกระทำของนายพิธา และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาเป็น 3 แนวทาง 

  • แนวทางแรก ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีคำสั่ง “ยกคำร้อง” แบบมี "เงื่อนไข"   

 

เหมือนกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 “ยกคำร้อง” กรณี “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 68 ว่า การที่ ครม.ยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ (ปี 50) มาตรา 291 โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เป็นการกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ และมี "เงื่อนไข" ว่า ควรจะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลง "ประชามติ" เสียก่อน 

  • แนวทางที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “ล้มล้าง” การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้ “เลิกการกระทำ” ดังกล่าว รวมถึงให้เลิกการกระทำเดียวกันที่จะเกิดขึ้น “ในอนาคต” ด้วย

เช่นเดียวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ให้นายอานนท์ นำภา-นายภาณุพงศ์ จาดนอก และน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม "ยกเลิกการกระทำ" ตามข้อเรียกร้อง 10 ข้อเสนอ ปฏิรูปสถาบัน เช่น ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ “เลิกการกระทำ” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563

การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้อง เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้อง รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่าย กระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง 

"อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้อง รวมทั้งองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย"

โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ไว้ว่า

“บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ตรงกับความมุ่งหมายและคำประกอบรายมาตราของ “กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” ทุกตัวอักษรที่อธิบายรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยระบุไว้ว่า

“เป็นเกราะคุ้มครองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกำหนดกลไกในการดำเนินการในกรณีมีการฝ่าฝืน”

  • แนวทางที่สาม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เข้าข่าย “ล้มล้าง” การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้ “ยุบพรรค” 

เทียบเคียงกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 กกต.ยื่นให้ “ยุบพรรค” ไทยรักษาชาติ แต่แตกต่างกันตรงที่เป็นกฎหมายคนละฉบับ-คนละตัวบท-คนละมาตรา และคำร้องไปไม่ถึงให้ “ยุบพรรค”  

กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ เป็นไปตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็น “ล้มล้าง” และ “ปฏิปักษ์” รวมถึง “อาจเป็นปฏิปักษ์” ไว้ชัดเจน จึงมีคำสั่งยุบพรรค

ถึงแม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้ให้นิยามศัพท์คำว่า "ล้มล้าง" และ "ปฏิปักษ์" ไว้ แต่ทั้งสองคำนั้นก็เป็นคำในภาษาไทยธรรมดาที่มีความหมายตามที่ใช้และรู้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งศาลย่อมรู้ได้เองด้วยว่า "ล้มล้าง" หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสลายหมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่หรือมีอยู่อีกต่อไป 

ส่วนคำว่า "ปฏิปักษ์" นั้น ไม่จำเป็นต้องรุนแรงถึงขนาดมีเจตนาที่จะล้มล้างทำให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำเป็นต้องถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางหรือสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้า หรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย จนเกิดความชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง ก็เข้าลักษณะของการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว

แต่แนวทางที่สอง-แนวทางที่สาม จะกลายเป็นแนวทางที่ "เลวร้ายที่สุด" ต่อนายพิธาและพรรคก้าวไกลได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ไปร้องต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใน “ดาบที่สอง”  

รวมถึงการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) ให้ตรวจสอบ-ไต่สวนการกระทำการฝ่าฝืนหรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ประกอบมาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) หากมีมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งว่ากระทำผิดให้เสนอเรื่องต่อศาลฏีกาวินิจฉัย 

เป็น "ดาบที่สาม" เหมือนกับคดี “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช อดีตสส.- โฆษกพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ภาพและข้อความถึงสถาบันและไม่ลบออก ศาลฏีกาพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ แต่ไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง