ประกาศศาลรธน. ความผิด "นำเข้าข้อมูลเท็จ"ในพ.ร.บ.คอมฯ ไม่ใช่จำกัดเสรีภาพ

07 ธ.ค. 2566 | 00:08 น.
818

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ "ประกาศสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ" เรื่อง พ.ร.บ.คอมฯมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง ชี้ชัด ความผิดจากนำข้อมูลเท็จ-ปลอมในระบบคอมฯ ไม่ขัดหลักนิติธรรมจำกัดเสรีภาพ โทษคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

วันที่ 6 ธ.ค. 66 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ "ประกาศสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเรื่อง พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง

ซึ่งประกาศดังกล่าว ลงนามโดยนายสุทธิรักษ์ ทรงศิวิไลรองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยเนื้อหาระบุว่า 

ด้วยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 20/2566 ลงวันที่ 29พฤศจิกายน 2566 ว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง จึงประกาศให้ทราบทั่วกัน ประกาศ ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบรายละเอียดของ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ระบุอยู่ในหมวด 1 "ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์" ระบุว่า

มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

ขณะที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง  ระบุ ดังนี้

มาตรา 26

การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย
กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

 

มาตรา 34 วรรคหนึ่ง

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน

 

ที่มา : ประกาศสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเรื่อง พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง