เปิด 5 คำร้องยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอศาลฯวินิจฉัยแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

20 พ.ย. 2566 | 12:31 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2566 | 12:52 น.

เปิด 5 คำร้องยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอ"ศาลรธน.-ศาลปกครอง" วินิจฉัยโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท สร้างความเสียหาย และเป็นภาระงบประมาณหรือไม่

วันที่ 20 พ.ย.2566  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าการยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน   พิจารณาส่งเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ   กรณีดำเนินการตามโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้แก่บุคคลที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน มีลักษณะเป็นการสร้างความเสียหาย และสร้างภาระแก่งบประมาณประเทศ

 รวมทั้งส่งผลกระทบต่อระบบการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว และกรณีรัฐบาลตราพ.ร.บ. เงินกู้ 5 แสนล้าน เพื่อนำไปใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 ประกอบพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2560 มาตรา 53 หรือไม่  

 

เบื้องต้นขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีการยื่นให้ผู้ตรวจการฯดำเนินการตรวจสอบด้วยกัน 5 คำร้อง   ประกอบด้วย

วันที่ 28 เม.ย.   นายสนธิญา สวัสดี ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพรรคเพื่อไทยกำหนดนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จำนวน 10,000 บาท เป็นการกระทำที่ขัดต่อ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 ก. ด้านการเมือง (3) 

นายสนธิญา สวัสดี

วันที่ 9 ต.ค. นางวิรังรอง ทัพพะรังสี   ยื่นขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง กรณีคณะรัฐมนตรีกำหนดนโยบายแจกเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาท   ให้กับประชาชน มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

วันที่ 18 ต.ค. นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี และคณะ ร้อง 2 ประเด็น คือ ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาตามมาตรา 22 (1) และ (2) พ.ร.ป. ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 แสวงหาข้อเท็จจริงและเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีและหน่วยงาน อื่นที่เกี่ยวข้อง  

กรณีดำเนินการตามโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้แก่ บุคคลที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน อันมีลักษณะเป็นการสร้างความเสียหาย และสร้างภาระแก่งบประมาณประเทศ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อระบบ การเงินการคลังของประเทศในระยะยาว

นอกจากนี้  ยังขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 23 (2)  พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560    เพื่อขอให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัย กรณีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อแจกเงิน ดิจิทัลวอลเล็ตให้แก่บุคคล ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 164 (2) และพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 6 และมาตรา 9

และขอให้ศาลปกครองกำหนดมาตรการชั่วคราว   ก่อนมีคำพิพากษาให้ระงับการดำเนินการโครงการดังกล่าวไว้ก่อนระหว่างการพิจารณา    เพราะหากมีการ แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตดังกล่าวไปแล้วจะเกิดความเสียหายต่องบประมาณ และระบบการคลังของประเทศ 

วันที่ 25 ต.ค.มีผู้ร้องซึ่งไม่ระบุชื่อ ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาตามมาตรา 22 (1) และ (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 แสวงหาข้อเท็จจริงและเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง กรณีดำเนินการตามโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้แก่บุคคล ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน มีลักษณะเป็นการสร้างความเสียหาย และสร้างภาระแก่งบประมาณประเทศ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อระบบการเงิน การคลังของประเทศในระยะยาว

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี  

และ วันที่ 13 พ.ย. นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีรัฐบาลตราพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน เพื่อนำไปใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 ประกอบพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2560 มาตรา 53 หรือไม่