"สมชัย"แฉ 4 ปมร้อน"เศรษฐา"เปลี่ยนท่าทีแจกเงิน"ดิจิทัลวอลเล็ต"

26 ต.ค. 2566 | 11:16 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2566 | 11:32 น.

"สมชัย"เปิด 4 เหตุผลรัฐบาลเพื่อไทย เปลี่ยนท่าทีแจกเงิน"ดิจิทัลวอลเล็ต"ชี้ความน่าเป็นไปได้ แจกคนจนเท่านั้น ปลายเมษายน 2567

วันที่  26 ตุลาคม 2566 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงนโยบายแจกเงิน "ดิจิทัลวอลเล็ต" 1 หมื่นบาท ดังนี้...


มติ อนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ที่กำหนดเกณฑ์กรองคนรวยออก เป็นคิดแบบหางไปหัว คือ เหลือคนเท่าไรแล้ว ค่อยไปคิดว่า จะหาเงินจากไหน ในขณะที่โจทย์ คุณเศรษฐา ให้ เป็นการคิดแบบหัวไปหาง คือ หากจะแจก 56 ล้านคน ใช้เงิน 560,000 บาท จะหาเงินจากไหน

ซึ่งเมื่อเช็คเงินในทุกกระเป๋า รีดไขมันจนตัวแฟบแล้ว หากจะแจกให้ได้ ก็รู้ว่าต้องกู้มาแจกเท่านั้น ซึ่งดูเหมือนจะผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ในหลายมาตรา จนเกิดอาการไอ คุก คุก ของคนรอบข้าง
 

ทางออกจึงต้องคิดกลับจากหางไปหัว จำกัดคนได้รับ ซึ่งจะใช้เกณฑ์เงินเดือนหรือเงินฝาก ก็ดูไม่เข้าท่า จึงอาจจบที่เกณฑ์คนยากไร้ หรือคนที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไว้

จำนวน 56 ล้านคน ก็จะลดฮวบเหลือ 15-20 ล้านคน  เงิน 560,000 ล้าน ก็จะเหลือ 150,000 - 200,000 ล้านบาท ที่อยู่ในวิสัยที่จะหาเงินงบประมาณแผ่นดินให้ได้ แต่ต้องใช้กระบวนการจัดทำงบประมาณในสภา  ซึ่งจะเสร็จ 17 เมษายน 2567

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง

สรุปทางที่น่าจะเป็นไป

1. แจกคนจนเท่านั้น

2. เหลือวงเงินไม่เกิน 200,000 ล้านบาท

3. ใช้งบประมาณแผ่นดินแหล่งเดียว

4. แจก ปลายเดือน เมษายน 2567

พูดแบบนี้แต่แรก ก็จบ

จบด้วยข่าวพยากรณ์อากาศ พายุหมุนที่ก่อตัวในทะเลจีนใต้ บัดนี้ ได้อ่อนกำลังเป็น ลมพัดชายทุ่งแล้ว
 

ทำไม รัฐบาลเพื่อไทย ต้องเปลี่ยนท่าที กรณีแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

1. จะใช้งบประมาณแผ่นดินปี 2567  กว่า พ.ร.บ.งบประมาณปีนี้จะผ่าน ก็ 17 เมษายน 2567  ใช้ก่อนไม่ได้ ผิดกฎหมาย


2. จะใช้มาตรการกึ่งการคลัง ยืมเงินออมสิน ออมสินบอกช่วยได้บางส่วน  แต่พอถามกฤษฎีกา  กฤษฎีกาตอบว่า ขัดกับ พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน ไม่สามารถทำได้

3. จะกู้เงิน ก็เกรงโดนด่าทั้งประเทศว่า กู้มาแจก สร้างหนี้ให้ลูกหลาน  จะออก พรก. เงินกู้ ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา  ก็ไม่มีเหตุผลฉุกเฉินจำเป็น และ อาจขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 

4. ทางออกที่เหมาะสมแล้ว คือ ใช้งบประมาณแผ่นดินจากการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น  ลดขอบเขตการแจก และ การขยับวันแจกเป็นปลายเมษายน หรือ ต้นพฤษภาคม หลัง พ.ร.บ. งบประมาณผ่านสภา

บทเรียนสำหรับพรรคการเมืองในเรื่องนี้ คือ การเสนอนโยบายต้องมองความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ  ไม่ใช่พูดตัวเลขประชานิยมใหญ่โต แล้วเป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน  ถึงเวลาก็มีข้อจำกัดมากมาย ไม่สามารถทำได้จริง  ทำให้ต้องเสียหน้า เสียความน่าเชื่อถือ  และหากจะดึงดันต่อ ก็อาจสูญเสียมากกว่านั้น