การเมืองเปลี่ยน ประธานบอร์ดปตท.(ต้อง)เปลี่ยน

20 ต.ค. 2566 | 15:48 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2566 | 14:24 น.
1.8 k

เมื่อการเมืองเปลี่ยน บอร์ดรัฐวิสาหกิจอย่างปตท.ที่มีรายได้มหาศาล มีผลประโยชน์เป็นแสนล้าน มักจะมีการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการ บ้างก็เปลี่ยนยกชุด บ้างก็เปลี่ยนแค่ตัวประธาน ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยกับเหตุการณ์ “ปลดเมื่อเปลี่ยน”

สัญญาณเปลี่ยน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกครั้งในรัฐวิสาหกิจพลังงานอันดับหนึ่งของประเทศ - ปตท.  เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา เมื่อนายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานคณะกรรมการปตท. ที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ 8 เมษายน 2565 ในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี  ส่งหนังสือไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรื่อง การตีความข้อบังคับของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งวาระการพ้นจากตำแหน่งของประธานคณะกรรมการปตท. ตามข้อบังคับที่กำหนด โดยสาระสำคัญอยู่ที่ข้อ 6 ที่ระบุว่า 


“หากมีการเปลี่ยนแปลงประธานกรรมการโดยพลการ โดยที่ประธานกรรมการไม่ครบวาระตาม ข้อบังคับข้อที่ 34 เป็นการจงใจฝ่าฝืนข้อบังคับ เจตนาปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อย่างชัดเจน ผู้ได้รับความเสียหาย ผู้ถือหุ้น อาจร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องได้"


เท่ากับว่าการส่งหนังสือที่สำนักงานก.ล.ต. ของนายทศพร คือการบอกเป็นนัยว่ากำลังมีคลื่นขนาดใหญ่ ซัดโถมเข้ามาที่ประธานกรรมการคนปัจจุบัน เมื่อหน่วยงานที่กำกับปตท. มีสองหน่วยงาน หนึ่งคือรัฐบาล สองคือสำนักงานก.ล.ต. (จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) เมื่อพึ่งพาหน่วยงานแรกไม่ได้ ก็ต้องไปหาหน่วยงานที่สอง 


หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ยื่นลาออกจากการเป็นกรรมการอิสระและประธานกรรมการสรรหา ซึ่งถือเป็นการเปิดทางให้การเมืองสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งคนใหม่  
คณะกรรมการปตท. ชุดปัจจุบัน

 

ประชุมบอร์ดปตท. มาราธอนบ่ายสองยันสี่ทุ่ม 

ในการประชุมคณะกรรมการปตท.วันที่ 19 ตุลาคม 256 เริ่มต้นในเวลา 14.00น. จนถึง 22.00 น.  8 ชั่วโมงเต็ม ก่อนการประชุม 1 วัน มีหนังสือสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยนางสาวจอมขวัญ  คงสกุล รองเลขาธิการ ลงนามแทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ส่งหนังสือกลับมาที่คณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 17 ต.ค. 2566 เรื่องการตีความข้อบังคับของบริษัท ตามที่ สำนักงานก.ล.ต. ได้รับหนังสือร้องเรียนโดยมีใจความว่า


“สำนักงาน ก.ล.ต. ขอเรียนว่าคณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัทท่านต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 89/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยต้องดำเนินกิจการของบริษัทด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับบริษัท เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม และหากมีเหตุที่จะต้องตีความข้อบังคับให้พิจารณาตามความประสงค์ในทางสุจริตเป็นสำคัญ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของข้อบังคับดังกล่าวด้วย”


แต่สุดท้ายการประชุมบอร์ดจบลงด้วยกระแสข่าวว่า นายทศพร ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการปตท. และผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนคือ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ กรรมการและกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กรคนปัจจุบัน และเป็นปลัดกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันที่เพิ่งจะรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาอีกด้วย ซึ่งทุกอย่างต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการและจะมีการแจ้งไปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีผลในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 
 

สรรหาทดแทนตำแหน่งเดิม – ไม่ต่อวาระ CEO คนปัจจุบัน

สิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือการสรรหากรรมการทดแทนตำแหน่งที่ขาดหายไป 2 คน แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นให้จับตาดูช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งจะเป็นการครบวาระการดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ปตท.ของนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์  โดยเป็นการครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีพอดี 

ที่ผ่านมานายอรรถพลได้เปลี่ยนแปลงปตท.ไปอย่างมากในช่วงที่เข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2563 เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับประเทศไทยต้องประสบภาวะวิกฤตการระบาดของโควิด-19  ปตท.ได้มีส่วนช่วยเหลือสังคมไทยอย่างเต็มที่ ร่วมมือกับเอกชน และหน่วยงานต่างๆ  ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ติดตั้งระบบการการคัดกรองผู้ป่วย อุปกรณ์ทางการแพทย์  ช่วยเหลือเงินทุนในการซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 และอื่นๆอีกมากมายจนผ่านพ้นวิกฤตมาได้

นอกจากนี้ยังเปลี่ยนองค์กรที่ต้องพึ่งพาธุรกิจพลังงานในรูปแบบเก่า เป็นองค์กรที่เน้นนวัตกรรม สร้างสิ่งใหม่และเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทย 

ทศพร ศิริสัมพันธ์กับขั้วทางการเมือง

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในสมัยพล.อ.ประยุทธ์ ซี่งได้รับความไว้วางใจ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นสายรัฐศาสตร์ไม่กี่คนที่เคยดำรงตำแหน่งนี้ ส่วนใหญ่มาจากสายเศรษฐศาสตร์

เมื่อนายทศพรเกษียณอายุราชการแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จึงแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการ ปตท. ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2565  

 
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 นายทศพรได้เคยยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นประธานกรรมการแล้ว 1 ครั้ง เหตุผลให้ครั้งนั้นมีการพูดกันว่าได้รับแรงกดดันทางการเมือง เนื่องจากนายทศพรอยู่คนละขั้วทางการเมืองกับผู้มีอำนาจในขณะนั้น  แต่ได้รับการยับยั้งจากพลเอกประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่งเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งการประชุมบอร์ดปตท.ล่าสุด วันที่ 21 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา  มีวาระการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของปตท.จำนวนหลายตำแหน่งทดแทนตำแหน่งเดิมที่เกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 แต่ปรากฎว่าที่ประชุมได้ถอนวาระดังกล่าวออกไปโดยไม่มีกำหนด 

ปตท.ขุมทรัพย์พลังงาน (พลังการเมือง)

ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ 51.11% โดยสามารถทำรายได้ปีละมากกว่าล้านล้าน โดยครึ่งปีแรกของปี  2566 สถานะการเงินของ ปตท. และบริษัทย่อย ณวันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 3,421,537 ล้านบาท  มีรายได้จากการขายถึง 1.534 ล้านล้านบาท และกำไรสุทธิ 47,962 ล้านบาท