“ก้าวไกล”ชงพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีม็อบทุกสีตั้งแต่ปี 49-57

05 ต.ค. 2566 | 15:02 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2566 | 15:08 น.

“ก้าวไกล”เข้าชื่อ ส.ส. ชงร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีขัดแย้งทางการเมืองทุกสี ตั้งแต่ปี 49-57 ยกเว้นไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐสลายชุมนุม-ทำผิด ม.113 ชี้เริ่มต้นนับหนึ่งปรองดอง หยุดนิติสงคราม ถอนฟืนออกจากกองไฟ

วันที่ 5 ต.ค.2566 ที่รัฐสภา ส.ส.ก้าวไกล นำโดย นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้าชื่อกันเพื่อยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... ต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร

นายชัยธวัช กล่าวว่า สาเหตุที่พรรคก้าวไกล ยื่นร่างฯ ดังกล่าว สืบเนื่องมากจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน นับตั้งการชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มพันธมิตรประชนชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2549 ลุกลามบานปลายจนเกิดการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองฯ 

ต่อมายังมีการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งในห้วงเวลาเหล่านี้มีประชาชาชนจำนวนมากเข้าไปมีส่วนร่วมชุมนุม หรือ แสดงออกทางการเมืองรูปแบบต่างๆ ตลอดระยะเวลามีประชาชนนับพันคนถูกดำเนินคดี ตั้งแต่คดีเล็กน้อยไปจนถึบคดีร้ายแรงเกี่ยวกับความมั่นคง

นายชัยธวัช กล่าวว่า การดำเนินคดีมีดำเนินการมาถึงปัจจุบัน ยังไม่มีท่าทีจะยุติ คดีใดที่มีการกล่าวหาไปแล้ว หลายคดีก็ยังสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ยาก ที่จะทำให้สังคมไทยกลับสู่ความปกติสุข หรือสามัคคีกันในสังคม ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน มองว่าฝ่ายรัฐไม่มีความเคารพความเห็นต่างทางการเมือง ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน และ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง 

พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่า เพื่อให้สังคมไทยได้กลับมาเริ่มต้นกันใหม่ จำเป็นต้องยุติการใช้ “นิติสงคราม” ต่อประชาชน ให้ประชาชนที่เคยแสดงออกทางการเมือง โดยมีเหตุจูงใจจากความขัดแย้งทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว ได้หลุดพ้นจากการดำเนิคดี 

ดังนั้น การนิรโทษกรรมจึงเป็นหนทางที่จะถอนฝืนออกจากกองไฟ หยุดยุตินิติสงคราม เป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นสร้างความยุติธรรม และความปรองดองที่ยั่งยืนในสังคมไทยต่อไป 

สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีดังนี้

1.กำหนดให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนการกระทำทางกายภาพ หรือ การแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่เป็นความผิดตามกฎหมาย ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. 2549 จนถึงร่างพ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ หากการกระทำดังกล่าวมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดกับพันธะกฎหมายต่างประเทศ 

2.การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมถึงการกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม หากเป็นการกระทำเกินสมควรกว่าเหตุ ตลอดจนจะไม่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดต่อชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา และไม่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 

3.กลไกการนิรโทษกรรมจะกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม คณะกรรมการฯ ชุดนี้ ในร่างของพรรคก้าวไกล จะเสนอให้มีคณะกรรมการฯ จำนวน 9 คน โดยประธานรัฐสภา จะเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลดังต่อไปนี้

1.ประธานสภาฯ 1 คน

2.ผู้นำฝ่ายค้าน 1 คน

3.บุคคลที่ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 1 คน

4.มาจากบุคคลที่สภาฯ เลือก 2 คน

5.ผู้พิพากษา หรือ อดีตผู้พิพากษา 1 คน

6.ตุลาการ หรือ อดีตตุลาการ 1 คน

7.พนักงานอัยการ หรือ อดีตพนักงานอัยการอีก 1 คน ซึ่งต้องมาจากการนำเสนอของศาลปกครอง และอัยการเอง

8.เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 1 คน

4.กำหนดสิทธิผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือ เสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากระเบียบ ประกาศ คำสั่ง คำวินิจฉัย มติ หรือ การกระทำของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำผิด เพื่อการนิรโทษกรรมตามพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ให้มีสิทธิ์สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้เอง

นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การคืนชีวิตใหม่ให้กับพี่น้องประชาชนที่โดนนิติสงคราม เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือ แสดงออกในทางการเมืองใดๆ แล้วถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย ซึ่งพี่น้องประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่า สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตัวเองในการเสริมสร้างบ้านเมืองโดยสันติ ได้รับการกระทบกระเทือน หรือ การละเมิด 

“เราเชื่อว่าการนิรโทษกรรมนี้ เป็นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้ หากพรรคการเมืองต่างๆ มีเจตจำนงร่วมกัน ที่จะผลักดัน และ หากเราพิจารณาให้ดีเราจะพบว่า พรรคการเมืองต่างๆ ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ หรือไม่ได้ปฏิเสธการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองแต่อย่างใด” 

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลังจากนี้พรรคก้าวไกลจะใช้โอกาสนี้ในการพูดคุยกับทุกพรรค ทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกสี ที่เคยมีความขัดแย้งกันในอดีตให้สำเร็จ 

“เราเชื่อว่าแม้ประชาชนคนไทย อาจจะไม่ได้มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกันทั้งหมด แต่ผมก็เชื่อว่าประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ต่างได้มาแสดงออกทางการเมือง และขัดแย้งกัน โดยยืนอยู่บนพื้นฐานที่ตัวเองอยากจะผลักดันให้สังคม เป็นสังคมที่ดีตามความคิดความเชื่อของตัวเอง

เราเชื่อว่า การยุติการต่อสู้ การยุติการดำเนินคดี การยุตินิติสงครามกับประชาชนไม่ว่าฝ่ายไหน จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนทุกฝ่ายได้ใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยโดยสันติ หันหน้าเข้ามาหากัน เพื่อแสวงหาฉันทามติครั้งใหม่ของสังคมอีกครั้งในอนาคต” นายชัยธวัช กล่าว

ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จะได้ให้เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการสภาฯ ตรวจสอบลายเซ็นผู้ยื่นร่างฯ และสาระต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับภายใน 7 วัน และจะแจ้งกลับไปผู้ยื่นให้ทราบโดยเร็ว