เอกชนไม่ถอย จ่อยื่นอุทธรณ์ เคลียร์ปมค่าโง่โฮปเวลล์ 2.7 หมื่นล้าน

23 ก.ย. 2566 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2566 | 10:00 น.
708

เอกชน จ่อถกที่ประชุมบริษัท ใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ หลังศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ “คมนาคม-รฟท.” จ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.7 หมื่นล้านบาท เหตุขาดอายุความ คาดได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนนี้

นายสุภัทร ติระชูศักดิ์ ฝ่ายกฎหมาย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)  ชดใช้ค่าโง่โฮปเวลล์ 2.7 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หลังศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 มีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำขอพิจารณาคดีใหม่หลังขาดอายุความว่า ขณะนี้ทางบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการเพื่อหารือในที่ประชุมของบริษัทถึงเรื่องดังกล่าว คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนนี้ 

“ตามปกติบริษัทจะต้องใช้สิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยศาลปกครองกำหนดให้บริษัทยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือนนับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองมีคำพิพากษา”
 

ขณะที่ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างรอคัดคำพิพากษา ซึ่งหลังจากนี้จะต้องเตรียมความพร้อมด้วย หากบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้จากคำพิพากษา ทำให้รฟท.ไม่จำเป็นต้องหารือกับเอกชนอีก เพราะศาลปกครองมีคำสั่งให้รฟท.และกระทรวงคมนาคมไม่ต้องจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.7 หมื่นล้านบาท  

คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากศาลปกครองกลาง เห็นว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ได้ทำสัญญา ลงวันที่ 9 พ.ย. 2533 กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟ และถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร และ การใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท.  มีกำหนดเวลา 30 ปี นับแต่สัญญามีผลบังคับ 
 

สัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ หลังจากการลงนามสัญญา กระทรวงคมนาคม และ รฟท. เห็นว่า การก่อสร้างมีความล่าช้ามากไม่อาจแล้วเสร็จตามสัญญา จึงมีหนังสือลงวันที่ 27 ม.ค. 2541 บอกเลิกสัญญากับผู้คัดค้าน โดย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)  ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2541 

 

ในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ต้องยื่นภายในอายุความตามกฎหมาย เมื่อสัญญาสัมปทานดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 การเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จึงต้องเสนอภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ หรือ ควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น 

 

เมื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2541 จึงต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในวันที่ 30 ม.ค. 2542 แต่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ไม่ได้เสนอข้อพิพาทดังกล่าว ในระหว่างนั้นมีการตรา พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาใช้บังคับแทน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 แต่ก็มิได้กำหนดเวลาในการเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองเอาไว้ จึงต้องเป็นไปตามระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง 

 

การที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) นำข้อพิพาทตามสัญญามายื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 จึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้ว

 

ทั้งนี้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายวิธีบัญญัติที่มีผลใช้บังคับกับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาทันที ทำให้ระยะเวลาการฟ้องคดีเปลี่ยนเป็นภายใน 5 ปีนับแต่วันที่รู้ หรือ ควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ส่งผลทำให้ระยะเวลาการยื่นข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานระหว่างกระทรวงคมนาคม รฟท. กับ บริษัท โฮปเวลล์ฯ ขยายเป็นภายใน 5 ปี ซึ่งในการตีความปัญหาข้อกฎหมาย และการปรับใช้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการนับระยะเวลาคดีนี้ มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ฉะนั้น จึงไม่อาจใช้วิธีการนับระยะเวลาตามระเบียบอื่น หรือ แนวทางการตีความปัญหาข้อกฎหมายเพื่อวินิจฉัยคดีเป็นอย่างอื่นได้ 

 

ดังนั้นการที่บริษัท โฮปเวลล์ฯ ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2541 จึงมีสิทธิที่จะเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้อย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 30 ม.ค. 2546 แต่ บริษัท โฮปเวลล์ฯ กลับยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2547 จึงพ้นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่รู้ หรือ ควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาท ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไป 1 ปี 9 เดือนเศษ สิทธิเรียกร้องของบริษัท โฮปเวลล์ฯ จึงขาดอายุความตามกฎหมาย